life cycle assessment – LCA [การประเมินวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์]
บางครั้งอาจเรียก “การประเมินวัฏจักรชีวิต” ซึ่งเป็นกระบวนการวิเคราะห์และประเมินค่าผลกระทบของผลิตภัณฑ์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมตลอดช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การสกัดหรือการได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การขนส่งและการแจกจ่าย การใช้งานผลิตภัณฑ์ การใช้ใหม่/แปรรูปและการจัดการเศษซากของผลิตภัณฑ์หลังจากการใช้งาน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นการพิจารณาผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ขั้นแรกสุดของการผลิตจนการกำจัดขยะ/ของเสียที่จากการการผลิตและการใช้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ (From Cradle to Grave) โดยการประเมินจะมีการพิจารณาถึงปริมาณพลังงานและวัตถุดิบที่ใช้ รวมถึงปริมาณของเสียที่ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมด้วย
ในการประเมินวัฎจักรชีวิตนั้นมีขั้นตอนหลัก 4 ขั้นตอน คือ การกำหนดเป้าหมายและขอบเขต (Goal and Scope) การวิเคราะห์บัญชีรายการด้านสิ่งแวดล้อม (Life Cycle Inventory) การประเมินผลกระทบตลอดวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Impact Assessment) การแปรผล (Interpretation) โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- การกำหนดเป้าหมายและขอบเขต (Goal and Scope) ประกอบด้วย การกำหนดเป้าหมายและขอบเขตหน้าที่ของผลิตภัณฑ์ (Product function) หน่วยการทำงาน (Functional unit) ขอบเขตระบบ (System boundary) และระบบผลิตภัณฑ์ (Product System) ขั้นตอนนี้มีอิทธิพลโดยตรงต่อทิศทางและความละเอียดในการศึกษา จึงนับว่าเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมาก เพราะถ้าการกำหนดเป้าหมายและขอบเขตใม่ครอบคลุมดีพอ จะทำให้การประเมินสารที่เข้าและสารที่ออกจากระบบหรือประโยชน์ที่จะได้รับจากการปรับปรุงระบบนั้นทำได้ยากและไม่ตรงประเด็น
- การวิเคราะห์บัญชีรายการด้านสิ่งแวดล้อม (Life Cycle Inventory) เป็นการเก็บรวบรวมและคำนวณข้อมูลที่ได้จากกระบวนการต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในขั้นตอนการกำหนดเป้าหมายและขอบเขตการศึกษา ขั้นตอนนี้รวมถึงการสร้างผังของระบบผลิตภัณฑ์การคำนวนหาปริมาณของสารขาเข้าและสารขาออกจากระบบผลิตภัณฑ์ โดยพิจารณาถึง ทรัพยากรและพลังงานที่ใช้หรือการปล่อยของเสียออกสู่อากาศ น้ำและดิน
- การประเมินผลกระทบตลอดวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Impact Assessment) เป็นการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของระบบผลิตภัณฑ์ จากข้อมูลการใช้ทรัพยากรและการปล่อยของเสียหรือสารขาเข้าและขาออกที่ได้จากขั้นตอนการวิเคราะห์บัญชีรายการด้านสิ่งแวดล้อม โดยการประเมินผลกระทบเกี่ยวข้องกับประเด็นหลักๆ คือ การนิยามประเภท (Category Definition) การจำแนกประเภท (Classification) การกำหนดบทบาท (Characterization) และการให้น้ำหนักแก่แต่ละประเภท (Weighting)
- การแปลผล (Interpretation) เป็นการนำผลการศึกษามาวิเคราะห์เพื่อสรุปผล พิจารณาข้อจำกัดการให้ข้อเสนอแนะที่มาจากผลการทำประเมินวัฎจักรชีวิตหรือการวิเคราะห์บัญชีรายการด้านสิ่งแวดล้อมและทำรายงานสรุปการแปลผลการศึกษาให้มีความสอดคล้องกับเป้าหมายและขอบเขตของการศึกษา
ยกตัวอย่าง การประเมินวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ข้าวสาร จะต้องพิจารณาประเด็นดังต่อไปนี้
1. ปัจจัยนำเข้า (Inputs) เพื่อการผลิต ได้แก่
- กระบวนการเตรียม เมล็ดพันธุ์
- กระบวนการเตรียมปุ๋ย/ยาฆ่าแมลง
- กระบวนการผลิตเครื่องจักรกลการเกษตร
- กระบวนการผลิต เชื้อเพลิงและอื่นๆ
2. กระบวนการ (ในทุ่งนาปลูกข้าว) ประกอบไปด้วย
- กระบวนการที่เกี่ยวเนื่องกับกำลังคนและแรงงาน
- กระบวนการของธรรมชาติโดยรอบ
- ความผันแปรของบริบทต่างๆ เช่น
3. ผลผลิต (outputs) กำไร ต้นทุน
- กระบวนการที่ได้มาซึ่งผลผลิตข้าว (Main product)
- ผลผลิตพลอยได้ (สิ่งที่ต้องการ)
- มลพิษ ขยะ ที่เกิดขึ้น (สิ่งที่ไม่ต้องการ)