ในปี พ.ศ. 2557 องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้เป็นปีสากลสำหรับเกษตรกรรมแบบครอบครัว (International Year of Family Farming) สำหรับคนไทย เมื่อกล่าวถึงเกษตรกรรมแบบครอบครัว (family farm) หรือฟาร์มครอบครัว (ที่จริงคำว่า “เกษตรกรรายย่อย” ดูจะมีความหมายที่ใกล้เคียงกัน) คนทั่วไปมักนึกถึงฟาร์มที่ครอบครัวเกษตรกรเป็นเจ้าของและใช้แรงงานในครอบครัวเป็นหลัก แต่บางคนที่ให้ความสำคัญกับการถือครองที่ดิน อาจใช้เกณฑ์ปริมาณการถือครองที่ดินในการพิจารณา ซึ่งอาจมีข้อถกเถียงกันได้ว่า ขนาดการถือครองที่ดินเท่าใดจึงนับว่าเป็นฟาร์มรายย่อย แล้ว “เกษตรกรรมแบบครอบครัว” นี้เป็นเรื่องอะไรกันแน่ และมีความสำคัญอย่างไร
ในบทความ “Ten qualities of family farming” ที่เขียนโดย Jan Douwe van der Ploeg ตีพิมพ์ในวารสาร Farming Matters ฉบับ 29.4, December 2013 ได้กล่าวถึงเกษตรครอบครัวว่าเป็นวิถีการทำฟาร์มและวิถีชีวิต ที่มีลักษณะพิเศษที่น่าสนใจอยู่ 10 ด้าน คือ
(1) ในการทำเกษตรแบบครอบครัวนี้ เกษตรกรควรจะสามารถควบคุมทรัพยากร (“ทุน”) หลักๆ ที่ใช้ในการทำการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน พืช สัตว์ พันธุกรรม บ้านพัก อุปกรณ์และเครื่องจักร รวมไปถึงความรู้เชิงเทคนิคเกี่ยวกับการนำทรัพยากรเหล่านี้มาใช้ในการทำการเกษตร ทรัพยากร/ทุนที่สำคัญอีกประเภทหนึ่งคือ การเข้าถึงเครือข่ายและตลาด หรือการเป็นสมาชิกกลุ่มผู้ผลิต-สหกรณ์ การทำเกษตรแบบครอบครัวใช้ทรัพยากรเหล่านี้ไม่ใช่เพื่อทำกำไรทางธุรกิจ แต่เป็นการทำมาหาเลี้ยงชีพ มีรายได้ที่เพียงพอในการดำเนินชีวิตตามอัตภาพ และถ้าเป็นไปได้ มีเงินทุนสะสมสำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาฟาร์มต่อไปในอนาคต
(2) ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว การทำเกษตรโดยครอบครัวนี้จะใช้แรงงานในครอบครัวเป็นหลักในการทำเกษตร ดังนั้น ฟาร์มครอบครัวนี้จึงเป็นแหล่งจ้างงาน (จ้างงานตัวเอง) ที่เกษตรกรที่ทำงานในฟาร์มของตัวเองจะทำงานหนักและทุ่มเท ทำให้ฟาร์มพัฒนาก้าวหน้า และส่งผลให้ครอบครัวยกระดับฐานะดีขึ้นตามไปด้วย
(3) ฟาร์มและครอบครัวมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง การตัดสินใจในการบริหารฟาร์มไม่สามารถแยกออกจากครอบครัวได้ ทั้งนี้เพราะฟาร์มเป็นแหล่งผลิตอาหารและปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีพของสมาชิกในครอบครัว และในขณะเดียวกัน ครอบครัวที่เป็นทั้งผู้บริหารและแรงงานที่ทำการผลิตในฟาร์มก็เป็นทั้งโอกาสและข้อจำกัดของการพัฒนาฟาร์ม ดังนั้น ความสัมพันธ์ที่ลงตัวระหว่างฟาร์มและครอบครัวจึงเป็นกุญแจสำคัญของการพัฒนาฟาร์ม แต่ละฟาร์มจะมีสมดุลของตัวเองที่แตกต่างกัน เช่น สมดุลระหว่างจำนวนแรงงานที่สามารถทำงานในฟาร์มได้และจำนวนปากท้องที่ต้องหาอาหารมาเลี้ยง
(4) ฟาร์มของครอบครัวนี้เป็นแฟล่งผลิตอาหารและรายได้หลักของครอบครัว ซึ่งอาหารที่ผลิตได้นี้เป็นอาหารที่มีคุณภาพ และในกรณีที่เป็นระบบเกษตรอินทรีย์ ก็เป็นอาหารที่ปลอดภัยกว่าอาหารที่หาซื้อมาจากตลาดภายนอก
(5) ฟาร์มไม่ใช่เป็นแค่สถานที่ทำการเกษตร แต่เป็นบ้านของครอบครัว เป็นที่พักอาศัย ที่เด็กๆ ได้เติบโตและเรียนรู้ในการดำรงชีวิต เป็นสายธารที่เชื่อมต่อประวัติศาสตร์ ปัจจุบัน และอนาคตของครอบครัว
(6) ฟาร์มทุกฟาร์มจึงมีประวัติศาสตร์และความทรงจำอยู่ ปู่ย่าตายายและพ่อแม่ ที่ทำเกษตร ก็หวังว่าจะสามารถส่งต่อฟาร์มนี้ให้กับลูกหลานของตัวเอง หรือเป็นบรรไดให้ลูกหลานได้ก้าวเดินไปในสังคม ไม่ว่าจะเป็นในภาคการเกษตรหรือนอกภาคการเกษตรก็ได้ ดังนั้น ฟาร์มจึงเป็นความภาคภูมิใจของครอบครัว ที่สมาชิกในครอบครัวทุกคนคงจะเสียใจและโกรธเป็นอย่างมากที่มีใครมาทำสิ่งที่ไม่ดีกับฟาร์มของครอบครัว
(7) ฟาร์มของครอบครัวเป็นแหล่งเรียนรู้ ที่ความรู้และประสบการณ์ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่น อีกทั้งฟาร์มยังเชื่อมโยงกับฟาร์มครอบครัวอื่นๆ เป็นเครือข่ายนวัตกรรมและความรู้ในทางปฏิบัติ รวมไปถึงพันธุ์พืช-พันธุ์สัตว์ ที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างกว้างขวาง
(8) ฟาร์มครอบครัว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชนบท ยังเป็นแหล่งที่ก่อกำเนิดวัฒนธรรม และขณะเดียวกันก็อนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านเอาไว้ในเวลาเดียวกัน
(9) ครอบครัวเกษตรกรและฟาร์มเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจชนบท การดำรงอยู่และการล่มสลายของฟาร์มครอบครัวจึงเชื่อมโยงกับความเข้มแข็ง-อ่อนแอของเศรษฐกิจชนบท
(10) ฟาร์มครอบครัวเป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ของชนบท ซึ่งฟาร์มอาจมีกิจกรรมที่สอดคล้อง (เช่น การทำเกษตรอินทรีย์) หรือขัดแย้งกับธรรมชาติในท้องถิ่่น ส่งผลต่อการอนุรักษ์ (หรือทำลาย) ภูมิทัศน์ที่งดงามของท้องถิ่นได้
วิฑูรย์ ปัญญากุล – กรีนเนท