การปรับตัวรับมือโลกร้อน: เมื่อสภาพดินฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลงไป

 

เมื่อฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไปและสภาพอากาศที่ยากจะคาดเดาเริ่มส่งผลกระทบต่อชุมชนเกษตรในท้องถิ่น ศูนย์พยากรณ์อากาศชุมชนอาจเป็นทางเลือกใหม่ที่มีส่วนช่วยเหลือและลดความเสี่ยงให้กับชาวนาที่ยโสธร

ในอดีตที่ผ่านมา ชาวนาจะสังเกตุปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น มดอพยพ เพื่อดูว่า ฝนจะมาตอนไหน หากมดเริ่มขนไข่ ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม เป็นการบ่งชี้ว่าฤดูกาลเริ่มเปลี่ยนจากหน้าร้อนแล้งเข้าสู่หน้าฝน และภายในสามวันหลังมดขนไข่ ฝนก็จะตกและชาวนาจะเริ่มเตรียมดินไถนาปลูกข้าว

การพยากรณ์อากาศดังกล่าวเป็นตัวอย่างของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้ช่วยเกษตรกรและชาวนาไทยมานานหลายศตวรรษ แม้จะมีการคาดการณ์สภาพอากาศที่ทันสมัย แต่​​เกษตรกรทั่วประเทศก็อาศัยภูมิปัญญาผ่านลงมาจากรุ่นสู่รุ่นโดยการสังเกตุปรากฏการณ์ในธรรมชาติเป็นหลัก แน่นอนว่า เกษตรกรเหล่านี้ฟังรายงานสภาพอากาศผ่านทั้งทางวิทยุหรือดูโทรทัศน์ แต่พวกเขามักจะจบลงด้วยความรู้สึกที่สับสนมากขึ้น

เอี่ยม สมเพ็ง ชาวนาผู้ปลูกข้าวหอมมะลิในอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธรอธิบายถึงการฟังข่าวอุตุนิยมวิทยาของภาครัฐที่ทิ้งข้อมูลไว้ให้เขางงงันว่า

“เมื่อเร็ว ๆ นี้ข่าวการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่า มีโอกาสที่ฝนจะตกประมาณ 40% ของพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การพยากรณ์เหล่านี้มาในอัตราร้อยละ แต่ในความเป็นจริงผมไม่ทราบ และไม่แน่ใจว่าหมู่บ้านของผมและนาข้าวของผม จะเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ 40% หรือไม่  การรายงานสภาพอากาศโดยทั่วไปที่ได้รับจากข่าวพยากรณ์อากาศในวิทยุและโทรทัศน์  มันกว้างเกินไปถ้าจะคิดครอบคลุมขนาดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด และพื้นที่ 40% อาจจะเป็นหมู่บ้านหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์, อุบลราชธานีหรือจังหวัดอื่นๆก็ได้”

ในอดีตที่ผ่านมาฤดูกาลต่างๆจะมาตรงเวลา และมาเป็นรูปแบบที่แน่นอน ฝนมาในช่วงเวลาเดียวกันของแต่ละปี ดังนั้น การพยาการณ์อากาศจากรัฐหรือข่าวอุตุนิยมวิทยาจึงไม่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจในกระบวนการผลิตของเกษตรกรมากนัก เพราะเกษตรกรไม่จำเป็นต้องพึ่งพาข้อมูลพยากรณ์อากาศจากอุตุนิยมวิทยา เนื่องจากภูมิปัญญาท้องถิ่นและแบบแผนสภาพอากาศไม่มีความแปรปรวนสามารถคาดการณ์ได้ในระดับที่แม่นยำเชื่อถือได้จากที่เคยปฏิบัติกันมา

แต่เมื่อเร็วๆนี้ แบบแผนสภาพอากาศของท้องถิ่น เช่น อุณหภมิ รูปแบบการตกของฝน ได้เปลี่ยนแปลงไป มีความแปรปรวนและคาดการณ์ได้ยากลำบากขึ้น  ในจังหวัดยโสธรเองก็เป็นกรณีหนึ่งที่เห็นได้ชัดว่ารูปแบบการตกของฝนเปลี่ยนแปลงไป ในปีที่ผ่านๆ มาฝนตกต้องตามฤดูกาล โดยฝนแรกจะมาในเดือนมิถุนายนแต่ปรากฏว่าฝนกลับตกล่าช้าโดยไปตกเอาเดือนกรกฏาคม เรียกว่า ฝนมาผิดเวลาทำให้หน้าแล้งยาวนานขึ้นจากเดิมแต่ระยะเวลาของหน้าฝนหดสั้นลง ซึ่งการมาช้าของฝนส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของชาวนาก่อให้เกิดความกังวลใจต่อผลผลิตข้าวหอมมะลิ เพราะบางพื้นที่ในเขตนี้ ระบบชลประทานยังเข้าไปไม่ถึง การทำนาจึงต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ขณะที่ ยโสธร เป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิส่งออกที่มูลค่าการส่งออกอันดับต้นๆ เป็นรายได้หลักของพื้นที่และเป็นรายได้หลักของเกษตรกรด้วย

 

จากปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น จึงมีหลายหน่วยงานที่ทำงานด้านการพัฒนาเข้ามาริเริ่มโครงการศูนย์พยากรณ์อากาศชุมชน (Community Weather Forecast Centre –CWFC) เพื่อช่วยเหลือ ส่งเสริมการผลิตและลดความเสี่ยงต่อสภาพอากาศแปรปรวนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ ทำให้ชาวนาในพื้นที่มีความหวังมากยิ่งขึ้น โดยศูนย์พยากรณ์อากาศชุมชนได้เปิดตัวไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา จากการสนับสนุนทุนโดยสหภาพยุโรป (European Union-EU) โดยความร่วมมือของ องค์กรอ๊อกแฟม (Oxfam-GB) ศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ(CCKM):หน่วยงานวิจัยสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิสายใยแผ่นดิน องค์กรพัฒนาเอกชนที่ส่งเสริมการผลิตวิถีเกษตรอินทรีย์และเกษตรกรรมยั่งยืน โครงการนี้ได้เริ่มต้นส่งข้อมูลพยากรณ์อากาศ เมื่อปีที่ผ่านมาโดยศูนย์พยากรณ์อากาศชุมชน จะส่งผลพยากรณ์อากาศรายสัปดาห์ รายเดือนและรายปี ไปยังเกษตรกรหลายทางเพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลพยากรณ์อากาศได้ ได้แก่ ส่งข้อความผ่านทางโทรศัพท์มือถือ (SMS) ติดบอร์ดประกาศที่สหกรณ์ หรือโรงสีของชุมชน โครงการนี้ถูกพัฒนาขึ้นใน 3 พื้นที่ของจังหวัดยโสธรมีสามาชิกกในโครงการรวม 214 ราย มีตัวแทนเกษตรกร 15คน ที่ร่วมจดบันทึกเพื่อตรวจสอบข้อมูลพยากรณ์ย้อนกลับ โดยมีตัวแทนพื้นที่ละ 5คน ทำหน้าที่ให้ข้อมูลในท้องถิ่น เช่น ความชื้นความเร็วลมและฝนไปยัง CCKMในกรุงเทพฯ ข้อมูลที่ได้จะนำมาใช้ในรูปแบบการพยากรณ์อากาศที่ออกแบบมาสำหรับพื้นที่ในยโสธรโดยเฉพาะจากการที่มีศูนย์พยากรณ์อากาศชุมชนทำให้เกษตรกรหรือชาวนามีข้อมูลที่สามารถใช้ตัดสินใจวางแผนการผลิตและวางแผนการใช้น้ำในฟาร์มได้  “มันทำให้ผมมีความมั่นใจมากขึ้น ช่วยให้เราวางแผนการผลิตได้”  พ่อเอี่ยม เกษตรกรในพื้นที่ กล่าว

 

ภายใต้กิจกรรมของโครงการทำให้เกษตรกรในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้วิธีการอ่านข้อมูล การจดบันทึกข้อมูลและส่งข้อมูลกลับมายังศูนย์ฯ เพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงาน CCKM ประมวลผล ปรับปรุงข้อมูลให้แม่นยำขึ้นและพยากรณ์อากาศกลับคืนชุมชนท้องถิ่น แทนการฟังข่าวอุติมนิยมวิทยาของทางภาครัฐ เพียงด้านเดียว ซึ่งเป็นการยากที่จะได้รับข้อมูลที่จำเพาะเจาะจงในพื้นที่ที่เชื่อมั่นพอสำหรับใช้ในการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตเพื่อลดความเปราะบางและลดความเสี่ยงต่อสภาพภูมิอากาศ

พ่อเอี่ยมให้ข้อมูลว่า ”ถ้าศูนย์พยากรณ์อากาศชุมชนแจ้งมาว่า คาดว่าฝนจะตกหนัก ผมจะเลื่อนการปลูกออกไป บางครั้งมันดีกว่าที่จะรอไปก่อน … การที่ผมมีข้อมูลเพื่อการตัดสินใจแบบนี้ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและลดต้นทุน แทนที่จะเสี่ยงตัดสินใจทำแบบเดิมๆ เหมือนในอดีตที่ผ่านมาแล้วสุดท้ายต้องเกิดการสูญเสียทุกอย่าง  มันไม่ได้อะไร’

จากผลการดำเนินงานพอพิสูจน์ได้ว่า ศูนย์พยากรณ์อากาศชุมชนเป็นโครงการที่มีประโยชน์ที่สุดโครงการหนึ่งในการช่วยให้เกษตรกรสามารถเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะกิจกรรมในโครงการดังกล่าวส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมจากชาวบ้านในท้องถิ่นและมีประสิทธิผลเกิดขึ้นจริงจึงมีแนวคิดที่จะขยายโครงการไปยังพื้นที่การทำเกษตรที่อื่นๆ คือ  ชุมชนเกษตรที่ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่  ต่อไป

 

เรียบเรียงข้อมูลจาก Bangkok Post

link :http://www.bangkokpost.com/lifestyle/family/350082/weathering-the-change