การปรับตัวโดยชุมชน (Community-Based Adaptation): กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

การปรับตัวโดยชุมชนเป็นแนวทางหนึ่งของการปรับตัว ซึ่งเน้นการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะชาวบ้านที่ยากจน ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง/ผันผวนของสภาพภูมิอากาศ โดยการพัฒนากลยุทธ์และแนวทางการปรับตัวที่อาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชน เรียนรู้จากแนวทางที่อาจมีอยู่แล้วในท้องถิ่น  รวมทั้งผนวกรวมกับกระบวนการพัฒนาท้องถิ่นแบบยั่งยืน ที่ได้มีการริเริ่มขึ้นอยู่แล้ว

การปรับตัวโดยชุมชนนี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะหลายฝ่ายเชื่อว่า แนวทางนี้น่าจะเหมาะสมกับชุมชนท้องถิ่นมากกว่า แนวทางที่พัฒนาจากบนลงล่าง ที่เน้นการวางแผนและการกำหนดนโยบายและมาตรการในระดับประเทศ ซึ่งเมื่อนำมาปฏิบัติในระดับท้องถิ่น มักจะพบว่า ไม่ได้ตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของชุมชนท้องถิ่นได้จริง

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมระหว่างประเทศของหน่วยงานที่ทำงานโดยใช้แนวทางการปรัยตัวโดยชุมชนนี้มาแล้ว 4 ครั้ง โดยในครั้งล่าสุด จัดขึ้นที่ประเทศแทนซาเนีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งมีหน่วยงานพัฒนาเอกชน รวมทั้งหน่วยงานระหว่างประเทศหลายแห่งที่เข้าร่วม  ในที่ประชุมครั้งนั้น ได้มีการร่วมกันจัดตั้งเครือข่ายริเริ่มด้านการปรับตัวโดยชุมชน (Global Initiative on Community Based Adaptation – GICBA) เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการทำงานของหน่วยงานต่างๆ

อย่างไรก็ดี มีประเด็นท้าทายต่อการปรับตัวโดยชุมชน ที่ต้องช่วยกันพัฒนาและหาทางแก้ไข อยู่หลายด้าน เช่น
* การยกระดับ (scaling up) การปรับตัวโดยชุมชน ที่เป็นโครงการขนาดเล็ก ให้เป็นโครงการขนาดใหญ่ระดับประเทศ
* การสกัดบทเรียนประสบการณ์ของโครงการปรับตัวโดยชุมชน เพื่อให้เป็นบทเรียนกับที่อื่นๆ
* การเชื่อมโยงกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ที่นักวิชาการได้พัฒนาองค์ความรู้ไปอย่างก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ
* การแสดงให้ฝ่ายนโยบายและหน่วยงานระหว่างประเทศต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานการพัฒนาท้องถิ่นอื่นๆ ให้ยอมรับแนวทางการปรับตัวโดยชุมชน และผนวกรวมการปรับตัวโดยชุมชนให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของท้องถิ่นนั้นๆ
* พัฒนากลไกการติดตามประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ

สำหรับท่านที่สนใจเกี่ยวกับการปรับตัวโดยชุมชน สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ Community Based Adaptation Exchange

สรุปจากบทความในจดหมายข่าว Tiempo ฉบับ 74 มกราคม 2010