ขณะที่เวทีเมืองแคนคูนกำลังถกปัญหาโลกร้อนอยู่ ประเทศไทยโดยเครือข่ายภาค ประชาชนจากทั่วประเทศ ก็จัดกิจกรรมและเวทีเสวนาคู่ขนานขึ้น ภายใต้ชื่อ “ความจริงเรื่องโลกร้อน : รอย เท้า ถุงผ้า และการเปลี่ยนแปลง” ที่จัดขึ้นที่สวนสันติชัยปราการ ถนนพระอาทิตย์ เพื่อตอกย้ำรัฐบาลไทยในการเดินหน้าแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างตรงจุดและเป็นธรรม กับชาวบ้าน และยังเป็นการตอกย้ำมนุษย์ที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โลกร้อนด้วย โดยการถกปัญหาโลกร้อนในเวทีชาวบ้านเริ่มขึ้นจากเครือข่าวภาคประชาชนจาก 30 เครือข่ายทั้งประเทศ เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก ร่างแผนแม่บทรองรับการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ พ.ศ.2553-2562 ที่ทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ จัดทำขึ้น เพราะร่างดังกล่าวไม่ได้รับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนก่อนที่จะจัดทำ และมีเนื้อหาที่ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนไม่ สามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาการลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยได้อย่างแท้จริง นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม กล่าวว่า ปัญหาโลกร้อนไม่ใช่ปัญหาของอนาคตอีกต่อไปแล้วเราต้องเริ่มแก้ไขกันตั้งแต่ วันนี้ โดยสังเกตจากภัยธรรมชาติที่ผ่านมา อย่างน้ำท่วม ฝนแล้ง พายุ คลื่นยักษ์จากท้องทะเลและภัยธรรมชาติอื่นๆ จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่เราได้รับผลกระทบกัน จึงอยากเสนอให้การจัดทำแผนแม่บทของภาครัฐบาลที่เป็นแผนระยะยาว รัฐบาลควรมองจากเหตุของปัญหาให้รอบด้านและต้อง รับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนก่อนที่จะ ดำเนินการจัดทำแผนแม่บท
“ที่ผ่านมาแม้ว่าประเทศไทยจะมีผู้แทนเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมโลกร้อนกับ เวทีโลกหลายครั้ง แต่แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมายังเป็นนามธรรม และไทยไม่สามารถไปใช้แผนการ ลดของต่างประเทศได้ ดังนั้นก่อนที่ปัญหาโลก ร้อนจะส่งผลรุนแรงกว่านี้ ประเทศไทยควรมี กฎหมายที่จะสามารถบังคับใช้กับผู้ที่เป็น ตัวการหลักในการปล่อยก๊าซคาร์บอน คือคนที่ปล่อยมากต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ใช่หยิบยกเอาภาคป่าไม้ ภาคเกษตรมา เป็นข้ออ้าง ที่จะเอามาเป็นที่ดักเก็บ คาร์บอน ทำให้ชาวบ้านที่เคยอยู่กับอาชีพ เกษตรกรรมต้องสูญเสียอาชีพไป” นางสาวกิ่งกรกล่าว
นอกจากนี้ยังเสนอให้ปรับแผนพัฒนาพลังงาน ให้เน้นการใช้พลังงานหมุนเวียนให้ มากที่สุด หยุดการใช้พลังงานถ่านหินซึ่งเป็นตัวการทำให้โลกร้อน และไม่ใช้พลังงาน นิวเคลียร์ เพราะไม่มีความยั่งยืนในเชิงสิ่งแวดล้อมและสังคม ร่วมถึงส่งเสริมการกระจายการผลิตไฟฟ้าอย่าง ยั่งยืนในระดับชุมชน และรัฐบาลต้องยอมรับสิทธิ์และวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นในการอาศัยและจัดการ ทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องสิทธิที่ดินทำกินของประชาชนที่อาศัยใน พื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้ชัดเจน ก่อนที่จะออกมาตรการเกี่ยวกับภาคป่าไม้มาช่วยลดโลกร้อน
โดยจากข้อเสนอประชาชนที่เป็นกลุ่มนักอนุรักษ์ทรัพยากรจากทั่วประเทศ ยังมีกิจกรรมที่นำเสนอวิถีชีวิตความเป็นอยู่ แต่ดังเดิม อย่างกลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่งทะเล อ.ปะทิว จ.ชุมพร, สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้,สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ, เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำ เซิน,เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมบางสะพาน จ.ประจวบคีรีข้นธ์ ที่ล้วนแต่นำเสนอวิธีการใช้ชีวิตตามวิถีดังเดิม ที่ไม่เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ เพื่อจะสะท้อนให้เห็นว่าการใช้ชีวิตแบบวิถี เกษตรนี้ ไม่ได้เป็นผู้ทำให้โลกร้อน แต่สิ่งที่รัฐบาลควรจะมอง คือภาคอุตสาหกรรมและภาคพลังงาน ที่เป็นตัวการสำคัญมากกว่าที่จะมากล่าวหาประชาชนทั่วไป หรือแม้แต่ชาวบ้านที่เป็นเกษตรกร ที่ต้องมาเป็นผู้รับผิดชอบปัญหาโลกร้อนอย่างไม่เท่าเทียบกัน
ขณะที่แผนงานและโครงการต่างๆที่รัฐบาลบรรจุไว้ในแผนแม่บทยังไร้ทิศทางที่ ชัดเจนและไม่สอดคล้องกับสาเหตุ ของปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะตามแผนเดิมเป็นการแก้ไขที่ไม่ตรงจุด ไม่คลอบคลุมและไม่ควบคุมไปถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและภาค อุตสาหกรรมซึ่งเป็นตัวการหลักปล่อยมากที่สุดกว่าร้อยละ 73 ของทั้งหมดที่มีการปล่อยทั้งประเทศ โดยส่วนใหญ่เกิดจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคพลังงานและอุตสาหกรรมหนัก อย่าง การผลิตปูน เหล็กและเหล็กกล้าและปิโตรเคมี
นางสาวกิ่งกร กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการแก้ปัญหา รัฐบาลต้องมีนโยบายและแผนงานที่ควบคุมให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก ภาคพลังงาน ด้วยการจำกัดหรือระงับการพัฒนาโครงการที่เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหินและน้ำมัน และมีนโยบายควบคุมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมหนักบางประเภทที่มีการปล่อยก๊าซ เรือนกระจกในปริมาณที่มาก รวมถึงต้องส่งเสริมกลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือกลไกทางการตลอดเข้ามาช่วยเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงภายในประเทศของ ตัวเอง โดยยังไม่ต้องมองถึงประเทศอื่นๆ
“แม้ว่ารัฐบาลจะบอกว่าไทยยังปล่อยคาร์บอนได้อีก เพราะเมื่อถือว่าเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนเพียง น้อยนิด เมื่อเปรียบเทียบกับทั้งโลกที่ปล่อยออกมามากกว่า 7 พันล้านตันต่อปี โดยไทยปล่อยเพียง 345 ล้านตันต่อปี แต่ประเทศไทยเป็นผู้ปล่อยคาร์บอนมากเป็นอันดับที่ 22 ของโลก และเป็นประเทศที่มีอัตราการเร่งการปล่อยคาร์บอนมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศจีน และไทยยังเป็นผู้ปล่อยคาร์บอนจากภาคพลังงานเป็นอันดับ 1 ของโลก แสดงให้เห็นว่าไทยใช้พลังงานไม่สะอาดมากกว่าพลังงานสะอาด ซึ่งหากรัฐบาลมองเพียงแค่ว่าไทยปล่อยคาร์บอน เพียงเล็กน้อย แล้วไม่มองถึงอนาคตข้างหน้า การเตรียมความพร้อมก็จะไม่เกิดขึ้น คนไทยอาจจะต้องรับกับภัยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากพวกฝีมือของเราเอง” นางสาวกิ่งกร กล่าว
ตัวแทนจากคณะโลกเย็นเพื่อเป็นธรรมกล่าวต่อว่า ขณะที่แผนพัฒนาประเทศของรัฐบาล ยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมโดยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติ เพื่อขยายฐานเศรษฐกิจของประเทศ และการเติมโตของ GDP ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้เดินควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนทำให้ร่างแผนแม่บทโลกร้อน ในระยะยาว ถูกกำหนดให้สอดรับการการขยายฐานเศรษฐกิจไปด้วย จึงเป็นการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างไม่ตรงจุด เพราะภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด
นางจินตนา แก้วขาว กลุ่มคนรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมักจะให้ความสำคัญแต่เรื่อง GDP ของประเทศ แต่ไม่ได้มองว่าเรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มองว่าชาวบ้านจะได้รับความเดือนร้อนหรือ ไม่ ทำให้หลายพื้นที่มีปัญหารุนแรง อย่างเช่น ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่สร้างโรงงานมากมาย เพราะต้องการขยายฐานเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลกลับไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือนร้อน ทรัพยากรธรรมชาติก็ถูกทำลาย วิถีชีวิตคนระยองถูกเปลี่ยนไปเป็นเมืองอุตสาหกรรมหนัก ประเทศไทยต้องสูญเสียทรัพยากร อย่างไม่สามารถจะเยียวยาได้
“ที่จ.ประจวบคีรีขันชาวบ้านไม่ยอมให้เป็นอย่างจ.ระยอง ถ้าประชาชนไม่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ถ่านหิน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมหนัก วันนี้เมืองประจวบคีรีขันธ์คงไม่เหลือทรัพยากรธรรมชาติแล้ว คงจะไม่มีวาฬบลูด้าไม่มีโลมา การประมงก็คงไม่เหลือ ชาวบ้านต้องสูญเสียอาชีพ แต่วันนี้ชาวบ้านอยู่ได้ เพราะมีทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย มีการท่องเที่ยวเกิดขึ้น มีอาชีพประมงพื้นบ้าน ชาวบ้านมีรายได้ นี่คือ GDP ของชาวบ้านที่ได้มาอย่างยั่งยืนเพราะแม้ว่าชาวบ้านจะใช้ทรัพยากร แต่ชาวบ้านก็เป็นผู้ดูแลทรัพยากรให้ใช้ ประโยชน์อย่างยั่งยืนเช่นกัน จึงไม่ใช่ประเด็น ที่รัฐบาลจะมากล่าวหาว่าชาวบ้าน หรือเกษตรกร เป็นผู้ทำลายทรัพยากรทำให้โลกร้อน แต่สิ่งที่ รัฐบาลควรกล่าวหาคือ ภาคอุตสาหกรรมและภาคพลังงาน ที่เป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุด” นางจินตนากล่าว
ร่างแผนแม่บทแก้โลกร้อนฉบับนี้ จึงยังมีช่องโหว่อีกมากมายที่ไม่สามารถใช้แก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง อย่างเช่นให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซ เรือนกระจกในภาคเกษตรรายย่อยมากกว่าอุตสาหกรรม เกษตรขนาดใหญ่โดยขาดการวิเคราะห์ถึงรากเหง้า ของปัญหาที่แท้จริง ทำให้กลุ่มหลักที่รัฐบาล ตั้งเป้าหมายให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือภาคการเกษตร
นางกันยา ปันกิติ ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง กล่าวว่า ที่ ผ่านมาเกษตรกรนอกจากจะต้องเจอกับปัญหาที่ดิน จากการถูกรัฐเวนคืนเพราะเข้าไปตั้งถิ่นฐานก่อนการประกาศเป็นเขตป่าสงวนแล้ว จนต้องมีการฟ้องร้องพิสูจน์สิทธิ์มากมาย ชาวบ้านในพื้นที่ยังถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งเนื่องจากเป็นผู้ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่งผลให้เกิดภาวะโลก ร้อน ทำให้เกษตรกรต้องเดือนร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากไม่ได้เป็นตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่มาก
“โลกร้อนเพิ่งส่งผลเมื่อไม่นานมานี้เอง แต่เมื่อก่อนประเทศไทยทำการเกษตรกันทั้งประเทศ โลกทำไมไม่ร้อน แต่ทำไมเพิ่งมาร้อน เพราะ เกษตรกรเป็นผู้ทำให้โลกร้อน จึงมองว่ารัฐบาลพยายามเบี่ยงเบนประเด็นมาให้ชาวบ้านเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่ง หากมองในความเป็นจริง ผู้ที่ปล่อยก๊าซเรือน กระจกมากที่สุดคือภาคอุตสาหกรรม ไม่ใช่ภาคการเกษตร หากเป็นเกษตรรายย่อยก็ยิ่งไม่ใช่ผู้ทำลาย เพราะชาวบ้านหาคิดอยู่กับป่าไม้ อยู่กับการเกษตร ก็เป็นผู้ที่ดูแลรักษาป่าไม้ ให้เป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน” นางกันยากล่าว
ตัวแทนชาวบ้านจากเทือกเขาบรรทัดยังมองอีกว่า นอกจากภาคเกษตรแล้ว ภาคป่าไม้ยังถูกให้ความสำคัญ เพราะเป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจก ทำให้การจัดการป่าไม้ในร่างแผนแม่บทดังกล่าว เน้นส่งเสริมการจัดการป่าไม้ให้เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน เพื่อค้าขายเครดิต ในตลาดคาร์บอน แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและคุ้มครองคุณค่าทางระบบนิเวศของป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ และฐานทรัพยากรเพื่อการดำรงชีวิตของประชาชน ส่งผลให้ชาวบ้านที่เคยใช้ประโยชน์และให้ประโยชน์จากป่าไม้โดนแย่งชิง และโดนจำกัดการใช้ เพื่อใช้เป็นที่กักเก็บ คาร์บอน แต่ในด้านนี้กลับไม่ถูกพูดถึง ตรงกันข้ามคือ พยายามยัดเยียดให้ชาวบ้านเป็นจำเลย ฐานทำให้โลกร้อนมากขึ้นอีกด้วย
จะว่าไปแล้วการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ใช่ เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แม้จะต้องพึ่งพาอาศัยร่างแผนแม่บทนี้ให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนให้เกิดการ แก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรมก็ตาม แต่ท้ายที่สุดแล้ว ประชาชนทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน และต้องให้ความสนใจอย่างจริงจัง ประเทศไทยจึง จะรอดพ้นวิกฤตการณ์โลกร้อนไปได้ไม่มากก็ น้อย แต่ก็คงดีกว่าไม่ทำอะไรเลย..!!
ที่มาข่าว: