นักวิจัยพบว่า ปัญหาสำคัญประการหนึ่งอยู่ที่ระบบการตรวจรับรองมาตรฐาน Q-GAP ของกรมวิชาการเกษตร ที่ไม่ได้มีการปฏิบัติอย่างจริงจังตามกรอบคู่มือการทำงานตรวจรับรอง เช่น มีข้อกำหนดให้เกษตรกรต้องผ่านการอบรมจากกรมส่งเสริมการเกษตรเกี่ยวกับการจัดการศัตรูพืชอย่างถูกต้อง แต่ในทางปฏิบัติ เกษตรกรไม่เคยได้รับการอบรมแต่อย่างใด หรือข้อกำหนดให้มีการตรวจฟาร์ม 3 ครั้งก่อนที่เกษตรกรจะได้รับการรับรองในการสมัครครั้งแรก โดยเป็นการตรวจที่ไม่แจ้งเกษตรกรล่วงหน้า แต่ในทางปฏิบัติ เกษตรกรได้รับการตรวจเพียงครั้งเดียว และมีการแจ้งเกษตรกรล่วงหน้าก่อน (ซึ่งทำให้เกษตรกรเตรียมการรอรับการตรวจได้ดี แต่หลังการตรวจ เกษตรกรก็กลับไปปฏิบัติเหมือนเดิมอีก) รวมทั้งผู้ตรวจที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์ในการตรวจ ที่ทำให้การตรวจเป็นแค่พิธีกรรม มากกว่าจะเป็นการตรวจประเมินจริง อย่างเช่นในกรณีของการตรวจฟาร์มลิ้นจี่ ที่ผู้ตรวจเป็นเจ้าหน้าที่ที่อายุน้อยมาก จึงไม่ค่อยกล้าที่จะทำการตรวจประเมินฟาร์มของเกษตรกรอย่างจริงจัง เพราะเกรงใจเกษตรกร และใช้เวลาเพียง 5 นาทีในการตรวจบางฟาร์ม เพราะไม่อยากเข้าไปตรวจสอบเกษตรกร และต้องเร่งตรวจเกษตรกรจำนวนมาก
จากการสังเกตและประเมินของนักวิจัย เกษตรน่าจะไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐาน Q-GAP ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเว้นระยะการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชก่อนการเก็บเกี่ยว แต่ผู้ตรวจ Q-GAP ก็ไม่ได้สังเกตพบเรื่องนี้ และเกษตรกรก็ไม่ค่อยเป็นห่วงเรื่องนี้มาก เพราะรู้ว่า โอกาสที่จะถูกสุ่มผลผลิตไปตรวจหาสารเคมีตกค้างนั้นมีอยู่ต่ำมาก
งานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาที่สูงอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยโฮเฮนไฮม์ ประเทศเยอรมัน กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งมีการจัดประชุมเชิงไปเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2555
ใครสนใจอ่านรายละเอียดรายงานนี้เพิ่มเติมได้จาก Schreinemachers, P., I. Schadb, P. Tipraqsa, P. M.
Williams, A. Neef, S. Riwthong, W. Sangchane, and C. Grovermanna. Can Public GAP Standards Reduce Agricultural Pesticide Use? The Case of Fruit and Vegetable Farming in Northern Thailand, Agriculture and Human Valuesม accepted for publication. หรืออ่านฉบับย่อยได้จากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยโฮเฮนไฮม์ (ดาว์นโหลด)