โครงการคาร์บอนออฟเซตโดยทั่วไปจะเป็นเครื่องมือทางการเงิน สำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะทำการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งอาจเป็นบุคคล องค์กร หรือหน่วยงานก็ได้ ว่าในกิจกรรมของผู้เข้าร่วม (อาจเป็นการผลิตหรือการทำงานในทั้งปี หรือแค่กิจกรรมบางส่วน เช่น การเดินทางด้วยเครื่องบินของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานนั้น) ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเป็นจำนวนเท่าไหร่ (ซึ่งปกติจะคำนวณกลับมาเป็นหน่วยคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือ carbon dioxide-equivalent – CO2e) ซึ่งบุคคลและหน่วยงานสามารถที่จะบริจาคเงินเพื่อชดเชยกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กับโครงการคาร์บอนออฟเซต และโครงการก็จะนำเงินดังกล่าวไปสนับสนุนกิจกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือตรึงคาร์บอน เช่น การปลูกป่า การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ การใช้พลังงานหมุนเวียน การประหยัดพลังงาน ฯลฯ โครงการคาร์บอนออฟเซตได้เกิดขึ้นในต่างประเทศหลายแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกแบบสมัครใจ หรือแบบบังคับด้วยกฎหมายก็ได้
ในส่วนของโครงการในประเทศไทย โครงการคาร์บอนออฟเซตนี้จะเน้นไปที่การสนับสนุนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์เป็นหลัก เนื่องจากการทำเกษตรอินทรีย์ ไม่เพียงแต่จะเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ยังช่วยตรึงและเก็บกักคาร์บอนเอาไว้ในดิน (ในรูปของอินทรียวัตถุ และสิ่งมีชีวิตในดิน) และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ การทำเกษตรอินทรีย์ยังเป็นแนวทางการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้อีกด้วย
โครงการนี้จะใช้เวลา 6 เดือน ซึ่งจะแล้วเสร็จประมาณปลายเดือนตุลาคม 2553