วิจัยยืนยันข้าวเกษตรอินทรีย์สะสมคาร์บอนในดินได้ดีที่สุด
งานวิจัยภาคสนาม ที่เก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสอออกไซด์) เปรียบเทียบระหว่างนาข้าวที่ปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ เกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) และแบบทั่วไปที่ชาวบ้านทำกัน พบว่านาข้าวอินทรีย์ปล่อยก๊าซมีเทนมากกว่านาข้าวแบบอื่นๆ เพราะในดินมีอินทรียวัตถุมากกว่า และมีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งเป็นอาหารให้กับจุลินทรีย์ดินแบบไม่ต้องใช้อากาศ ซึ่งเมื่อจุลินทรีย์ย่อยอินทรียวัตถุเหล่านี้จะปล่อยก๊าซมีเทนออกมา แต่ถ้าจะลดการปล่อยก๊าซมีเทนลง ควรจะปล่อยน้ำออกจากแปลงนา 1 ครั้งในช่วงประมาณ 80 วันหลังการปลูกข้าว เพื่อทำให้ดินมีอ๊อกซิเจนเพิ่มขึ้น จุลินทรีย์ดิบประเภทไม่ต้องใช้อากาศก็จะลดลง  ส่วนการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์นั้น พบว่า ถ้ามีการใช้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง โดยเฉพาะนาแบบทั่วไป จะมีการปล่อยก๊าซนี้ค่อนข้างสูง และนาเกษตรกรอินทรีย์ค่อนข้างจะปล่อยก๊าซนี้ต่ำกว่านาประเภทอื่น  ส่วนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้น นาเกษตรอินทรีย์จะปล่อยค่อนข้างสูงในช่วงพักนา ที่ไม่ทำการผลิต เพราะจุลินทรีย์ดินจะเจริญเติบโตได้ดีกว่าในสภาพที่ไม่มีน้ำขัง

อย่างไรก็ดี นาทุกประเภทมีการสะสมคาร์บอนในดินเพิ่มขึ้น แต่นาข้าวเกษตรอินทรีย์มีการเก็บกักคาร์บอนได้ดีที่สุด คือ มากกว่านาประเภทอื่น 2 – 5 เท่า เนื่องจากมีการใช้อินทรียวัตถุเป็นปุ๋ยมากกว่า

งานวิจัยนี้ดำเนินการโดย ดร. ภัทรา เพ่งธรรมกีรติ นักวิจัยจากภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และทำการศึกษาภาคสนามในพื้นที่อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา