อียูและสหรัฐบรรลุข้อตกลงยอมรับการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ของอีกฝ่าย
หลังจากที่มีการเจรจามานานหลายปี ในที่สุดสภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาก็บรรลุข้อตกลงในการยอมรับระบบมาตรฐานและการตรวจสอบรับรองของอีกฝ่ายหนึ่ง โดยมีเงื่อนไขเพียงข้อเดียว คือ ในการส่งออกสินค้าออร์แกนิค สินค้านั้นต้องใช้ฉลากตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในข้อตกลงดังกล่าวในช่วงการงานแฟร์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ BioFach 2012 ที่ประเทศเยอรมัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า สหภาพยุโรปยอมรับระบบการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ในฐานะที่สหรัฐมีกฎหมายที่ทัดเทียมกับกฎระเบียบของสหภาพยุโรป (equivalence) ในขณะที่ กระทรวงเกษตรสหรัฐยอมรับระบบการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ของสหภาพยุโรปว่า เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎระเบียบในสหรัฐอเมริกา (compliance) ซึ่งข้อตกลงนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2555 นี้เป็นต้นไป

แต่อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงนี้ครอบคลุมเฉพาะสินค้าที่ผลิตหรือแปรรูปในประเทศคู่สัญญาเท่านั้น  สินค้าออร์แกนิค ที่ผลิตในประเทศอื่น แม้ว่าจะได้รับการรับรองตามมาตรฐานอียูหรือสหรัฐอเมริกา จะไม่สามารถนำเข้าอีกประเทศหนึ่งได้ ซึ่งข้อตกลงนี้แตกต่างจากข้อตกลงที่สหรัฐอเมริกมีกับแคนาดา ที่อนุญาตให้สินค้าที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานของอีกฝ่าย แม้ว่าจะผลิต-แปรรูปที่ในประเทศไหนก็ได้ สามารถนำเข้าไปจำหน่ายในอีกประเทศหนึ่งได้

สรุปจาก The Organic Standards, Issue 131, March 2012