แต่ปัญหาสำคัญประการหนึ่งก็คือ การที่กฎระเบียบเกษตรอินทรีย์ที่รัฐบาลในประเทศต่างๆ ได้กำหนดขึ้น ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การค้าเกษตรอินทรีย์ขยายตัวได้ช้า เพราะมีเพียงไม่กี่ประเทศที่ยอมรับกฎระเบียบของประเทศอื่น ทำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการต้องขอการรับรองหลายมาตรฐานไปพร้อมกัน ซึ่งปัญหาดังกล่าว มีวิทยากรจากหลายหน่วยงานได้บรรยายถึงความสลับซับซ้อนของการยอมรับซึ่งกันและกันของกฎระเบียบและการตรวจสอบรับรอง เช่น คุณ Ong Kung Wai (จาก Grolink) ที่ได้กล่าวถึงปัญหาที่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการจะต้องจัดการ เนื่องจากการต้องขอการรับรองหลายมาตรฐาน หรือคุณ Andre Leu (รองประธาน IFOAM) ที่ได้นำเสนอความพยายามของ IFOAM และหน่วยงานระหว่างประเทศ ที่ผลักดันให้มีการยอมรับกฎระเบียบและมาตรฐานการตรวจสอบรับรองแบบเท่าเทียมกัน แทนที่จะบังคับให้ประเทศอื่นยอมรับมาตรฐานและระบบของตัวเอง นอกจากนี้ คุณ Matthew Holmes (กรรมการบริหารของ Canada Organic Trade Association) ได้เล่าถึงประสบการณ์ของการเจรจาและข้อตกลงการยอมรับระบบการตรวจสอบรับรองมาตรฐานแบบเท่าเทียมกันระหว่างประเทศแคนาดากับสหรัฐอเมริกา และกับสหภาพยุโรป ซึ่งแม้ว่า จะมีข้อตกลงกันแล้ว แต่ก็ยังมีรายละเอียดในทางปฏิบัติที่ยังคงต้องเจรจากันต่อ
นอกจากนี้ มีวิทยากรจากประเทศจีน คือ คุณ Xiao Xingji และ คุณ Lu Zhenhui ที่ได้บรรยายถึงสถานการณ์การผลิต การตลาด และกฎระเบียบการตรวจสอบรับรองมาตรฐานของประเทศจีน ซึ่งตลาดภายในลาประเทศจีนนั้นได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงมาก ซึ่งทางมีการประเมินภายในกันว่า ตลาดออร์แกนิคในจีนน่าจะมีมูลค่าราว 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนคุณ Jonathan Wong ได้บรรยายถึงตลาดออร์แกนิคในฮ่องกง ซึ่งก็มีการเติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน
ส่วนคุณวิฑูรย์ ปัญญากุล จากมูลนิธิสายใยแผ่นดิน ที่ได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรในงานนี้ด้วย ได้บรรยายถึงแนวทางในการขยายตลาดส่งออกออร์แกนิค ที่ต้องให้ความสำคัญกับการจัดการห่วงโซ่อุปทาน การบริหารจัดการระบบคุณภาพของการผลิต-แปรรูป และการพัฒนาความร่วมมือกับผู้นำเข้าในการเจาะตลาดเกษตรอินทรีย์ในต่างประเทศ