โครงการนำร่องเหล่านี้ได้สร้างให้เกิดการเรียนรู้และต้นแบบการปรับตัวในแต่ละพื้นที่ขึ้นรวมทั้งเครือข่ายภาคีความร่วมมือต่างๆซึ่งทางมูลนิธิสายใยแผ่นดินเล็งเห็นว่าประสบการณ์และองค์ความรู้เหล่านี้น่าจะนำมาเผยแพร่ต่อให้กับสาธารณชน ในรูปของเวทีวิชาการ นิทรรศการและกิจกรรมสาธิตต่างๆ เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มชาวบ้านในแต่ละพื้นที่รวมทั้งกับกลุ่มชาวบ้านในเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ต่างๆซึ่งจะทำให้ชุมชนสามารถที่นำความรู้ไปประยุกต์ปรับใช้หรือต่อยอดจากองค์ความรู้เดิมที่ทำอยู่ในพื้นที่นั้นๆ รวมทั้งเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้สู่สาธารณะ
หนึ่งในกิจกรรมการสัมมนา คือ เวทีเสวนา “เกษตรอินทรีย์กับโลกร้อน” (วันที่ 23 ก.พ.) ซึ่งผู้ร่วมเสวนาทั้ง 5 ท่านได้นำเสนอประเด็นสำคัญที่น่าสนใจดังนี้
คุณคำพัน สุพรม (กลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ สนามชัยเขต ฉะเชิงเทรา) ให้ข้อมูลเรื่องการทำนาแบบหยอดแบบไถชักร่อง โครงการได้พันธุ์ข้าวมาจากสุรินทร์ ชื่อพันธุ์ ดอกมะขาม เพื่อนำมาทดลองปลูกด้วยวิธีการทำนาหยอด ซึ่งพบว่า การปลูกด้วยวิธีนี้มีข้อดี คือ , ประหยัดเมล็ดพันธุ์ ,รากแตกกอได้ดีและ รากลึกกว่านาหว่าน , ไม่ต้องใช้น้ำมากทำให้ไม่ต้องรอฝน (ปกติเกษตรกรต้องรอฝนมาจึงจะทำนาได้) วิธีการทำนาหยอด คือ ใช้ไม้ไผ่เจาะหลุม ตามเชือกที่ขึงไว้ แล้วหยอดเมล็ดข้าวเปลือก ซึ่งจะทำให้สามารถจัดการหญ้าได้ง่ายขึ้น (ถอนหญ้าตามแปลงข้าว) โดยเว้นระยะห่างระหว่างร่อง 50 – 100 ซม. ขึ้นกับความใหญ่ของกอข้าวของแต่ละพันธุ์ X 1 ม. สาเหตุที่เกษตรกรสนใจเทคนิคการทำนาหยอด เพราะการทำนาหว่านที่ผ่านมาใช้เมล็ดพันธุ์ในปริมาณมากและความแปรปรวนของการตกของฝน เมื่อปรึกษากันภายในกลุ่ม เพื่อหาวิธีการแก้ปัญหา โดยเฉพาะกับนาที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ จึงได้ค้นหาเทคนิคใหม่ ๆ ซึ่งก็คือการทำนาหยอดแบบไถชักร่อง เมื่อทดลองแล้วพบว่า เทคนิคนี้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ (ความแล้ง)
คุณชุติมา น้อยนารถ (กลุ่มเกษตรกรคลองจินดา อ.สามพราน นครปฐม) ได้เล่าให้ฟังถึงกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนในการปรับตัวรับมือโลกร้อน กรณี สวนผัก-ผลไม้ คลองจินดา โดยใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านมีการยกร่องทำนา ปลูกผักและผลไม้ ในอดีตมีการทำคันล้อม หากเป็นหน้าน้ำทางสวนก็จะปล่อยน้ำท่วมเข้าสวนไปเลย แล้วจึงสูบออกภายหลัง เพราะการที่ปล่อยให้น้ำท่วมปีละครั้งเป็นเรื่องที่ดี เช่น กรณีโรคแมลง น้ำจะพัดพาโรคแมลงออกไปจากสวน แต่ปัจจุบัน เกษตรกรที่มีฐานะดี จะทำคันดินได้สูงกว่าชาวสวนที่มีฐานะยากจนกว่า ทำให้น้ำที่ไหลมาเอ่อไปขังอยู่ที่สวนของคนที่คันดินต่ำกว่า อย่างไรก็ตามการทำคันล้อมที่มีประสิทธิภาพ คือ การปลูกพืชเสริมให้รากยึดเกาะบนคันดินด้วยเพื่อสร้างความแข็งแรงของคันดิน ในคลองจินดามีการปลูกพืชหลากหลายกว่า 50 ชนิด มีการเลือกชนิดของพืชที่ปลูก และเทคนิคการปลูกที่คิดว่าสามารถรับมือกับความแปรปรวนของสภาพอากาศได้เช่นพืชประเภทผักพื้นบ้านที่มีความเกื้อกูลซึ่งกันและ เช่น บนคันร่องจะปลูกหญ้า น้ำนมราชสีห์ หญ้าเล็บนก ต้นฝรั่งที่เคยปลูกบนหลังแปลงก็ปรับมาปลูกข้างๆ แปลงสองข้างและให้ต้นโน้มลงมาทางร่องน้ำ ซึ่งเทคนิคนี้จะสามารถลดปัญหาเรื่องอากาศร้อนให้กับต้นฝรั่งได้ระดับหนึ่ง (อากาศร้อนมากๆ จะทำให้ผลฝรั่งร่วง) ผลลัพธ์ ที่ได้จากการทำงานร่วมกันของชาวคลองจินดา คือ การเรียนรู้เยี่ยมเยียนสวนของเพื่อนๆ ในชุมชน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน และเรียนรู้เทคนิคของแต่ละสวน เพื่อนนำไปปรับใช้กับสวนตนเอง ซึ่งในอดีตชาวคลองจินดามักไม่มีเวลาที่จะสนใจเพื่อนบ้านหรือชุมชนใกล้เคียง เนื่องจากเวลาส่วนใหญ่จะยุ่งอยู่กับการดูแลสวนของตนเอง
กิจกรรมที่ชุมชนที่ได้ทำภายใต้โครงการนำร่อง คือ การทำแผนที่ความเสี่ยงน้ำท่วมร่วมกันของผู้นำชุมชนทั้งหลายในคลองจินดา ซึ่งจากการทำแผนที่ความเสี่ยงดังกล่าว ทำให้ชุมชนสามารถวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม วางแนวทางป้องกัน แก้ปัญหาร่วมกันในช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมา โดยมีการระดมเครื่องสูบน้ำ ลงขันงบประมาณเป็นค่าบริหารจัดการ และค่าน้ำมัน ซึ่งศักยภาพของชุมชนในส่วนเป็นผลมาจากการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรม โครงการนำร่องรับมือและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศหรือโลกร้อนนั่นเอง
คุณวิระยุทธ นิยมชาติ (Chi Watershed Restoration Project WWF Greater Mekong Thailand Country Programe) ได้อธิบายถึงงานวิจัยที่ศึกษาการปรับตัวภาคเกษตรต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศลุ่มน้ำยัง / ลุ่มน้ำโขง โดยมีประเด็นการศึกษาหลักเกี่ยวกัน (1) ภัยคุกคามและผลกระทบที่เกิดขึ้น (2) ความเปราะบางของเกษตรกร (3) ความเสี่ยงของเกษตรกร (4) การปรับตัวในระดับชุมชน และ (5) การปรับตัวในระดับครัวเรือน ซึ่งพื้นที่ศึกษา คือ ลุ่มน้ำชี ต.วังหลวง ต.สายนาวังภัยคุกคามและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศปริมาณของน้ำฝน ย้อนหลัง 30 ปี (2514-2543) ฝนตกเฉลี่ยรายปีที่ 1252.5 มิลลิเมตร เดือนกรกฏาคมจะมีปริมาณฝนสูงสุด และ ช่วง กค – สค จะมีจำนวนวันฝนตกมากที่สุดอยู่ที่ 15.6 วัน และจะค่อยๆ ลดลงไปจนถึงปลายปี ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณฝนตกมากขึ้น แต่มีความแปรปรวนของปริมาณของน้ำฝน จำนวนวันที่ ฝนตกมีแนวโน้มไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงไปตลอด
ผลการศึกษาพบผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากปี 2550-ปัจจุบัน คือ ฝนตกน้อย ขาดช่วงในต้นฝน กระทบต่อต้นกล้า+ปักดำ ช่วงปลายฤดูฝน ฝนจะตกมากกว่า ปกติทำให้เกิดน้ำท่วมเกิดการระบาดของแมลง ศัตรูพืช พืช สัตว์ต่างถิ่นส่งผลให้มีการใช้สารเคมีเพิ่มมากขึ้น
ส่วนความเปราะบางในระดับครัวเรือนจากภัยแล้งมักพบมากในครัวเรือนที่มีที่ดินทำกินน้อยกว่า 10 ไร่ และมีปัญหาแหล่งน้ำสำรองในแปลงนาปลูกข้าวเป็นอาชีพหลักอย่างเดียวไม่สามารถเลี้ยงวัว-ควาย เป็นอาชีพเสริมได้ไม่สามารถปลูกผักหรือไม้ยืนต้นได้ ส่วนครัวเรือนที่มีที่ดินมากว่า 10 ไร่ และมีแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้หว่านกล้าข้าว ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ไม้ยืนต้น ฯลฯ จะมีความเปราะบางต่ำกว่า นอกจากนี้ ยังพบว่ามีความเปราะบางต่อปัญหาอุทกภัยพบในพื้นที่ราบลุ่มติดกับแม่น้ำยัง เมื่อเกิดภาวะน้ำท่วม ชาวบ้านไม่มีความรู้เรื่องการจับปลา การประมง ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไป ยังปรับตัวไม่ทัน ยังไม่มีระบบจัดการน้ำในไร่นา แต่มีการปรับเปลี่ยนมาใช้พันธุ์ข้าวพื้นเมืองแทน เช่น จ้าวลอย และมีการเปลี่ยนวิถีการผลิตใหม่ เช่น มาทำนาปรังอย่างเดียว โดยสรุป กลุ่มชาวบ้านที่มีความเสี่ยงมาก คือ มีแปลงนาขนาดเล็ก/สารเคมี ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ไม่มีแหล่งน้ำในไร่นา ขาดทักษะอาชีพที่หลากหลาย ไม่เปลี่ยนรูปแบบการทำนา ส่วนชาวบ้านที่มีความเสี่ยงต่ำจะคือ มีที่นาขนาดมากกว่า 10 ไร่ ทำเกษตรผสมผสาน มีแหล่งกักเก็บน้ำในไร่นา มีระบบการกระจายน้ำ มีทักษะอาชีพหลายด้าน เปลี่ยนรูปแบบการทำนา
อาจารย์ภัทรา เพ่งธรรมกีรติ (ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) นำเสนอในเรื่องเกษตรกรรม: แหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยระบุว่า มีการปล่อยก๊าซมีเทน ได้จากระบบย่อยอาหารในปศุสัตว์ การจัดการมูลสัตว์ที่ไม่ดี การทำนาข้าว และการเผาเศษซากพืช ส่วนก๊าซไนตรัสออกไซด์เกิดได้จากการจัดการดินเกษตร เช่น การใส่ปุ๋ย การไถพรวนดิน การจัดการมูลสัตว์ การเผาเศษซากพืช และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เกิดจากการใช้เชื้อเพลิง การเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดิน และอื่นๆ
การทำเกษตรมีแนวปฏิบัติที่สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยการลดการเผาเศษซากพืช การจัดการน้ำ/ปุ๋ย/อินทรียวัตถุในนาข้าว และปรับปรุงวิธีจัดการมูลสัตว์และเศษซากพืช ส่วนการเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในดิน มีเทคนิคดังนี้ ส่งเสริมการทิ้งเศษซากพืชและใส่อินทรียวัตถุ การปลูกพืชแซมหรือพืชคลุมดิน ระบบวนเกษตร การปลูกพืชพลังงาน รวมถึงไม้โตเร็ว ลดการรบกวนดิน เช่น การไถพรวน (ดูเพิ่มเติมในเอกสารแนบ)
อาจารย์สุเปญญา จิตตพันธ์ (หน่วยวิจัยสาหร่ายและแพลงก์ตอน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ได้ทำการศึกษาเกี่ยวยกับสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่สามารถตรึงไนโตรเจนได้ เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งของปุ๋ยชีวภาพสำหรับพื้นที่เกษตรอินทรีย์ สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน เป็นจุลินทรีย์ที่ดำรงชีวิตด้วยการสังเคราะห์แสงเช่นเดียวกับพืช สามารถพบได้ทุกระบบนิเวศ เช่น นาข้าว บางชนิดสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ จึงนิยมนำสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินมาประยุกต์ใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพเพื่อเพิ่มธาตุไนโตรเจนในพื้นที่เกษตรกรรม ดังนั้น จึงสามารถคัดแยกสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่มีความสามารถในการตรึงไนโตรเจนได้และมีศักยภาพในการเติบโตดี มาใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพ โดยวัตถุประสงค์ในการศึกษาคือ เพื่อเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนเกษตรอินทรีย์ ให้เกษตรกรสามารถเพาะเลี้ยงและนำสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่สามารถตรึงไนโตรเจนได้ไปใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพในพื้นที่เกษตรอินทรีย์ได้จริง
พื้นที่ศึกษา คือ ที่กลุ่มเกษตรอินทรีย์อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งการใช้สารหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินนี้สามารถมีบทบาทในการลดโลกร้อนได้ เพราะลดการใช้ปุ๋ยคอก ซึ่งอาจก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพราะสาหร่ายใช้คาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศในการเจริญเติบโต