เวทีเสวนาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศต่อความมั่นคงทางอาหาร
เมื่อวันที่ 5 – 6 มีนาคม 2553 องค์กรอ็อกแฟม เกรทบริเทน ได้จัดเวทีเสวนาและเผยแพร่งานวิจัยชุมชนขึ้น โดยจัดที่จังหวัดเชียงใหม่ ณ บ้านพักทัศนาจรเชียงใหม่ มีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วนได้แก่ NGOs,องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น,เกษตรกร และนักวิชาการ จากทั่วประเทศ (เหนือ กลาง อีสาน ใต้) กว่า 150 คน

วัตถุประสงค์ในการจัดเวทีครั้งนี้ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างองค์กรที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและการปรับตัวของชุมชน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ชุมชนที่อยู่ในกระบวนการวิจัยได้พบปะแลกเปลี่ยนกันเองด้วย  นอกจากนี้ ในเวทีนี้ก็ช่วยทำหน้าที่เป็นเวทีปรึกษาหารือ เพื่อหาแนวทางในการนำเสนอผลงานสำหรับผลักดันให้เก็นการรณรงค์ในระดับนโยบาย ที่เอื้อต่อการรับมือและปรับตัวต่อผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในภาคการเกษตร ซึ่งหัวข้อวิจัย ได้แก่

1. ป่าชุมชนทางเลือกในการรับมือโลกร้อน: กรณีศึกษาหินลาดใน จังหวัดเชียงราย ใน 3 ประเด็น คือ การพึ่งพากันระหว่างป่ากับชุมชน  รอยเท้านิเวศน์ของคนในป่า ไร่หมุนเวียนเป็นโจทย์หรือจำเลย(ตามคดีโลกร้อน)
2. การปรับตัวของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ : กรณีศึกษาของมูลนิธิสายใยแผ่นดินจังหวัดยโสธร
3. เกษตรอินทรีย์โจทย์หรือจำเลยในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก : กรณีศึกษาของมูลนิธิข้าวขวัญ จังหวัดสุพรรณบุรี
4. โลกร้อนปัญหาที่ไม่ได้ก่อของเกษตรกรรายย่อย: กรณีศึกษาของสถาบันเกษตรกรรมยั่งยืน จังหวัดเชียงใหม่

ผลจากการเสวนานี้ได้ช่วยทำให้ผู้เข้าร่วมได้มีความรู้ความเข้าใจและการตระหนักถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มีต่อระบบเกษตรกรรมและความมั่นคงทางอาหารในบริบทของประเทศไทย รวมทั้งมาตรการและนโยบายต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนของภาครัฐทั้ งในระดับประเทศและระดับสากล

ในเวทีการเสวนานี้ มีนักวิชาการหลายท่านมาร่วมเป็นวิทยากรในครั้งนี้ด้วย เช่น ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ซึ่งได้บรรยายเรื่องวิกฤตโลกร้อนกับเกษตรกรรายย่อย เกษตรกรรมยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน โดยชี้ให้เห็นถึงสัญญาณบ่งชี้ภาวะโลกร้อนในประเทศไทย เช่น ฤดูกาลผันผวนแปรปรวน ปริมาณฝนมีแนวโน้มลดลงในรอบ 50 ปี โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก การคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ฯลฯ ที่จะกระทบต่อระบบการเกษตรโดยภาพรวม ซึ่งจะทำให้ผลิตภาพของภาคการเกษตรโดยรวมลดลง ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงจากวิกฤตอาหารตามมา

ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ อดีตคณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้บรรยายถึงมาตรการ REDD ที่มีการนำเสนอเพื่อจะช่วยในการแก้ปัญหาการจัดการป่า รวมทั้งท่าทีของภาคประชาชนต่อเรื่องนี้ ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเรื่อง REDD อย่างกว้างขวาง ซึ่งมีทั้ผู้ที่เห็นด้วยและผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว

ผศ.ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา บรรยายถึงสถานการณ์ปัจจุบันและทิศทางแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มีผลต่อระบบการผลิตในภาคเกษตรของเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทย และการวิเคราะห์ความเสี่ยงและการกระจายความเสี่ยงของเกษตรกร ตลอดจนความจำเป็นและการเข้าถึงข้อมูลสภาพอากาศว่า มีข้อมูลอะไรบ้างที่จำเป็นสำหรับเกษตรกรรายย่อยในการเตรียมตัวเพืื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยเริ่มจากการการวิเคราะห์ตัวเองก่อนว่า มีความเปราะบางต่อสภาพภูมิอากาศหรือไม่ อย่างไร

คุณวิฑูย์  ปัญญากุล บรรยายถึงความจำเป็นที่เกษตรกรควรเตรียมตัวรับมือกับความผันผวนของสภาพอากาศในปัจจุบันและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ในอนาคต

ในเวทีเสวนาดังกล่าว ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนความรู้ความเห็นในและตั้งคำถามในหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้ชุมชนตระหนัก คือ ข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับพื้นที่ ตลอดจนการถ่ายทอดความรู้เรื่องการปรับตัวให้กับชุมชนในภาษาที่ชุมชนท้องถิ่นสามารถเข้าใจได้ง่าย  รวมทั้ง ความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง “ศูนย์ข้อมูลภูมิอากาศชุมชน” สำหรับเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะสร้างการเรียนรู้และเป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อการปรับตัวในอนาคตได้ เพราะชุมชนจะขับเคลื่อนได้ต้องมีทั้งข้อมูลและการส่วนร่วมในการวางแผน  สำหรับข้อเสนอต่อภาครัฐที่ผู้เข้าร่วมได้นำเสนอ คือ ควรบรรจุแผนงานวิจัยชุมชนเรื่องโลกร้อนเข้าไปอยู่ในแผนงานระยะกลางของแต่ละ อบต. เพื่อทำให้เกิดการเชื่อมประสานภาคี/แลกเปลี่ยน หนุนเสริม และขยายผลในทางปฏิบัติให้กว้างขวางและเป็นรูปธรรมมากขึ้น