ในการประชุมครั้งนี้ มีรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมหลายประเทศ รวมทั้งมีตัวแทนจากหน่วยงานราชการ องค์กรสิ่งแวดล้อม หน่วยงานการพัฒนา นักวิชาการ และสื่อมวลชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยมีหัวข้อการประชุมที่น่าสนใจหลายเรื่อง อาทิเช่น ความเชื่อมโยงแนวดิ่งของหน่วยงานภาครัฐ วิทยาศาสตร์ และนโยบาย, ความเชื่อมโยงแนวระนาบในการจัดทำนโยบายและการดำเนินงาน, การจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการปรับตัว, บทบาทของวิทยาศาสตร์ในการพัฒนาเพื่อการปรับตัว, การปรับตัวโดยใช้ฐานเรื่องความเปราะบาง, กลไกตลาดกับการปรับตัว, นโยบาย กฎหมาย และระเบียบสำหรับสนับสนุนการปรับตัว, ความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศเป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวมากน้อยแค่ไหน, การพัฒนาศักยภาพที่จำเป็นเพื่อการปรับตัว เป็นต้น ซึ่งในแต่ละหัวข้อจะมีวิทยากรมาให้ความเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของตัวเอง
เวทีนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ Adaptation Knowledge Platform ได้จัดขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในการพัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนความรู้ในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ Adaptation Knowledge Platform ยังมีเป้าหมายในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับเรื่องการปรับตัว และสนับสนุนให้มีการนำความรู้ใหม่และความรู้ที่มีอยู่ไปปฏิบัติใช้จริง
ที่จริงแล้วในประเทศไทยเองก็มีการจัดเวทีพูดคุยและการฝึกอบรมไปแล้วหลายครั้ง เช่น เมื่อตุลาคมปีก่อน ได้จัดอบรมเรื่องหลักการและการวางแผนในการปรับตัว และการสื่อสารข้อมูลภูมิอากาศสำหรับการปรับตัว หรือเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก็ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเรื่องการปรับตัวในภาคการเกษตร และในอนาคตในช่วง 2 ปีข้างหน้า ทาง Adaptation Knowledge Platform ก็มีแผนที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change Knowledge Management Center – CCKM) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบล ในการที่จะนำเรื่องผนวกรวมเรื่องการปรับตัวเข้าไปในแผนยุทธศาสตร์ของตำบล รวมทั้งการทำหลักสูตรฝึกอบรมการวางแผนระดับลุ่มน้ำ เพื่อใช้ในการประเมินความเปราะบางของทรัพยากรน้ำ และทางเลือกในการปรับตัวแบบต่างๆ ด้วย สำหรับท่านที่สนใจในงานของ Adaptation Knowledge Platform สามารถอ่านรายงานขั้นต้น (Inception Report) ได้จากเว็บไซต์ของ Adaptation Knowledge Platform