เป็นที่ทราบกันดีว่า การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย (หรือแม้แต่ในที่ต่างๆ ทั่วโลก) มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของการขยายตัวของความต้องการในการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ อีกทั้งมีการนำผลผลิตข้าวโพด (โดยเฉพาะในต่างประเทศ) ไปใช้ในการผลิตเอทานอล เพื่อใช้เป็นส่วนผสมน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ในขณะเดียวกัน หลายฝ่ายก็แสดงความห่วงใยเกี่ยวกับความไม่ยั่งยืนของการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากการใช้ที่ดินในการเพาะปลูกที่ไม่ยั่งยืน มีการบุกรุกพื้นที่ป่าและพื้นที่อ่อนไหวด้านนิเวศน์ เพื่อขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพด หรือการเขตกรรมที่ไม่เหมาะสม จนทำให้เกิดการชะล้างพังทะลายของหน้าดิน ในปัจจุบัน มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยอยู่ประมาณ 7.2 ล้าน (ข้อมูลปี 2555/56)
ทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ได้ผลักดันให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พัฒนามาตรฐานระบบการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืน โดยทาง สกว. ได้มอบหมายให้คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้จัดทำโครงการ โดยมี ดร.ชวนพิศ อรุณรังสีกุล เป็นหัวหน้าโครงการ
ในการเสวนาเชิงวิชาการเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างมาตรฐานที่ทางคณะวิจัยได้ยกร่างขึ้นมา โดยเน้นที่การพิจารณาความสำคัญของประเด็นหลักๆ เช่น การอนุรักษ์ดิน การอนุรักษ์น้ำ การจัดการสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งความปลอดภัยในการทำงาน
หลังจากโครงการวิจัยนี้สิ้นสุดลง ทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์หวังว่า จะผลักดันให้มีการตรวจสอบรับรองมาตรฐานในเรื่องนี้ขึ้น โดยเริ่มจากในประเทศไทยก่อน แต่ที่จริงแล้ว คำถามในเชิงนโยบายก็คือ นอกเหนือจากข้าวโพดที่เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ ยังมีวัตถุดิบอื่นที่สำคัญก็คือ ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง และปลาป่น การจะทำให้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีความยั่งยืนเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์มากนัก ควรที่จะมีการดำเนินการทำให้การผลิตอาหารสัตว์ทั้งระบบมีความยั่งยืน รวมไปถึงความยั่งยืนของการเลี้ยงสัตว์ด้วย ซึ่งในปัจจุบันนี้ ได้มีความพยายามในระดับสากในการพัฒนาความยั่งยืนของการเพาะปลูกถั่วเหลืองอยู่แล้ว คือ ระบบการผลิตถั่วเหลืองอย่างยั่งยืนของ Roundtable Sustainable Soy (RTSS) ดังนั้น อาจจะน่าสนใจกว่าที่จะผลักดันให้ Roundtable Sustainable Soy ขยายขอบเขตให้ครอบคลุมในเรื่องการผลิตข้าวโพดเพิ่มขึ้น ซึ่งแนวทางเช่นนี้น่าจะเป็นการดำเนินงานที่ง่ายกว่าการจัดทำระบบมาตรฐานใหม่เฉพาะของประเทศไทย