โครงการพัฒนาการท่องเที่ยว การเกษตร และขีดความสามารถในการส่งออกแบบยั่งยืนในประเทศลาว
ระยะเวลา
เริ่ม:
พฤศจิกายน 54
สิ้นสุด:
พฤษภาคม 57

โครงการ “Enhancing Sustainable Tourism, Clean Production and Export Capacity in Lao People’s Democratic Republic” นี้เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานสหประชาชาติ คือ ITC, ILO, UNCTAD, UNIDO และ UNOPS ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจท่องเที่ยว รวมทั้งการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเกษตรอินทรีย์และหัตถกรรม (โดยเฉพาะไหม) เพื่อทำให้เกิดการเชื่อมโยงกับธุรกิจต้นน้ำ รวมทั้งการขยายปริมาณและปรับปรุงคุณภาพสินค้าส่งออก อันจะช่วยแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่เป้าหมายในประเทศลาว

ในโครงการความร่วมมือของหน่วยงานสังกัดสหประชาชาตนี้ ทาง UNCTAD รับผิดชอบงานใน 2 ด้านหลัก คือ (ก) การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาคท่องเที่ยวกับภาคเศรษฐกิจต้นน้ำ คือ ภาคการเกษตร (เกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย) และธุรกิจหัตถกรรมไหม  และ (ข) สร้างความเข้มแข็งให้กับรัฐบาลลาวในเรื่องนโยบายด้านการค้าและมาตรการที่มิใชภาษี(Non-Tariff Measures) ตลอดจนพัฒนาโอกาสในการส่งออกของผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์และผลิตภัณฑ์ไหมที่มีคุณภาพสูง โดยในระยะเบื้องต้นจะเน้นที่เมืองหลวงพระบางก่อน แต่ก็มีขอบเขตการทำงานทั่วประเทศด้วย

โดยในช่วงเฟสแรก (พ.ย. 54 – พ.ย. 55)  ทาง UNCTAD ได้จัดจ้างให้มูลนิธิสายใยแผ่นดินทำงานเป็นที่ปรึกษา โดยมีกิจกรรมหลายด้าน อาทิเช่น

  1. การศึกษาภาพรวมเกษตรอินทรีย์ของประเทศลาว
  2. การคัดเลือกผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ของประเทศลาว (จากเมืองหลวงพระบางหรือที่อื่น) ที่น่าจะเป็นที่สนใจต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวของลาว
  3. การจัดทำสื่อเพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ให้กับผู้เกี่ยวข้องในลาว
  4. การจัดอบรมด้านเทคนิค เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในลาว
  5. การสนับสนุนการวางแผนการจัดประชุม Lao Organic Agriculture Forum ซึ่งเป็นเวทีพูดคุยระหว่างภาครัฐ-เอกชน
  6. การศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับศักยภาพทางการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ไหมออร์แกนิคจากประเทศลาว รวมทั้งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับระบบการผลิตไหมเกษตรอินทรีย์

ในเฟสสอง (พ.ย. 56 – พ.ค. 57) ทางมูลนิธิฯ ได้รับมอบหมายให้จัดกิจกรรม

  1. เตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มเกษตรกรปลูกผักรอบเมืองหลวงพระบาง ในการขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบกลุ่ม
  2. เตรียมความพร้อมด้านการบริหารจัดการกลุ่มและการจัดการเงินทุนหมุนเวียนของกลุ่มเกษตรอินทรีย์หลวงพระบาง (Luang Prabang Organic Group)
  3. ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการจัดการตลาดเขียว (ตลาดผักออร์แกนิคที่เกษตรกรนำผลผลิตมาจำหน่ายเองโดยตรง) ในเมืองหลวงพระบาง
  4. การพัฒนาขีดความสามารถของหน่วยตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ลาว (Lao Certification Body – LCB)