หลังจากนั้น ทาง มกอช. ได้เชิญตัวแทนจากหน่วยงานบางส่วน เพื่อหารือแนวทางการกำหนดมาตรฐานข้าวอินทรีย์เป็นมาตรฐานบังคับ ในวันที่ 6 มิถุนายน รวมทั้งได้มอบหมายให้มูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย ทำการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าว ซึ่งทางมูลนิธิฯ ได้จัดเสวนากลุ่มย่อยขึ้นเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 30 คน ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ นักวิชาการ
ในทางกฏหมาย เมื่อกำหนดให้เป็นมาตรฐานบังคับ สินค้าที่จะติดฉลากว่าเป็นเกษตรอินทรีย์ (รวมทั้งออร์แกนิค) จะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานตามข้อกำหนดมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตร และจากหน่วยตรวจรับรองที่ทาง มกอช. ได้รับรองระบบงานแล้วเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบัน มีเฉพาะหน่วยตรวจรับรองของกรมต่างๆ ในกระทรวงเกษตรเท่านั้นที่สามารถให้บริการดังกล่าวได้
ผู้เข้าร่วมการประชุมได้รับฟังข้อมูลจากตัวแทน มกอช. เกี่ยวกับผลที่จะเกิดขึ้นจากการกำหนดให้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์เป็นมาตรฐานบังคับ ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่สามารถให้ข้อมูลที่ชัดเจนได้ว่า จะกำหนดเฉพาะข้าวอินทรีย์หรือรวมสินค้าเกษตรอินทรีย์ทุกชนิด รวมทั้งความเป็นไปได้ในการที่จะยอมรับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อื่นๆ ที่ผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ส่วนใหญ่ของประเทศได้รับการรับรองอยู่แล้ว (เช่น มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์, มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของสหภาพยุโรป แคนาด หรือสหรัฐอเมริกา)
นายวิฑูรย์ ปัญญากุล นายกสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย ได้สรุปเหตุผล 10 ข้อที่ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดให้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์เป็นมาตรฐานบังคับ คือ
- ไม่ได้ช่วยเกษตรกร เพราะการบังคับให้เกษตรกรต้องได้รับการรับรองมาตรฐานของกระทรวงเกษตรไม่ทำให้เกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์สามารถจำหน่ายผลผลิตได้เพิ่มขึ้น หรือช่วยให้เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนการผลิตเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ได้เพิ่มขึ้น เพราะปัญหาหลักของเกษตรกรอยู่ที่การพัฒนาระบบห่วงโซ่อุปทานเกษตรอินทรีย์ (organic supply chain) ไม่ใช่การมีมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เป็นมาตรฐานบังคับหรือสมัครใจ
- ไม่ได้ช่วยผู้บริโภคในประเทศ เพราะเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ทำเกษตรอินทรีย์ แต่ยังไม่พร้อมที่จะขอรับรองมาตรฐาน จะเลือกใช้ฉลากอื่น (เช่น ปลอดสารพิษ ปลอดสารเคมี ไร้สารพิษ) ซึ่งกลับจะยิ่งทำให้เกิดความสับสนในหมู่ผู้บริโภคมากขึ้น รวมทั้งการกำหนดเป็นมาตรฐานบังคับไม่ได้ช่วยสร้างความเชื่อมั่น/มั่นใจให้กับผู้บริโภค ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคนั้นเกิดขึ้นจากประสิทธิผลและความเอาจริงเอาจังของระบบการตรวจสอบรับรองมากกว่า
- ไม่ได้ช่วยผู้ประกอบการแปรรูป โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ต้องใช้วัตถุดิบจากหลายแหล่ง/หลายชนิด ซึ่งอาจได้รับการรับรองมาตรฐานที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะวัตถุดิบเกษตรอินทรีย์บางอย่างที่ไม่มีในประเทศไทย แต่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ มาตรฐานบังคับจะเพิ่มภาระต้นทุนให้กับผู้ประกอบการไทยเป็นอย่างมาก
- ไม่ได้ช่วยสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น เพราะข้อกำหนดของมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่เกษตรกรได้รับการรับรองอยู่แล้วไม่ได้มีความแตกต่างไปจากมาตรฐานของกระทรวงเกษตร การบังคับให้ต้องรับรองมาตรฐานเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งมาตรฐานจึงไม่ได้ช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นแต่อย่างใด
- ไม่ได้ช่วยการส่งออก เพราะผู้ผลิตและผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ตามเกณฑ์ของต่างประเทศอยู่แล้ว และการได้รับการรับรองมาตรฐานของกระทรวงเกษตรไม่สามารถช่วยในการส่งออกเพิ่มขึ้นได้อย่างไร
- ไม่ได้ช่วยการนำเข้า จากการศึกษาของกรีนเนทพบว่า ในปัจจุบัน มีการนำเข้าสินค้าออร์แกนิคจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากถึง 58% ของสินค้าแปรที่วางขายในร้านต่างๆ ในประเทศไทย การกำหนดให้สินค้าออร์แกนิคที่นำเข้าจากต่างประเทศต้องได้รับการรับรองตามาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทยด้วยนั้น คงเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เพราะหน่วยตรวจรับรองของราชการไทยไม่ได้มีความพร้อมที่จะไปตรวจรับรองการผลิตเกษตรอินทรีย์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าออร์แกนิคที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย
- ไม่ได้ช่วยให้ต่างประเทศยอมรับมาตรฐานประเทศไทย เพราะการยอมรับระบบมาตรฐานของประเทศไทยโดยต่างประเทศ ไม่ได้มีข้อกำหนดให้ต้องทำเป็นมาตรฐานบังคับ มีหลายประเทศ (เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย) ที่ระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศได้รับการยอมรับจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น โดยไม่ต้องมีการกำหนดให้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์เป็นมาตรฐานบังคับในประเทศตัวเองแต่อย่างใด
- เพิ่มภาระการตรวจรับรองให้กับหน่วยตรวจรับรอง ที่จะต้องมีการตรวจสอบเพิ่ม ต้องขอการรับรองระบบงานเพิ่ม ต้องเพิ่มเอกสารและขั้นตอนต่างๆ ซึ่งทำให้เพิ่มภาระตุ้นทุนกับหน่วยตรวจรับรอง ซึ่งจะทำให้ต้องเพิ่มค่าธรรมเนียมการตรวจรับรองกับเกษตรกรผู้ผลิตและผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น
- ในประเทศพัฒนาแล้วที่มีการประกาศให้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์เป็นมาตรฐานบังคับ ทางภาครัฐและเอกชนมีการทำงานร่วมกันในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจังเป็นเวลาหลายสิบปีเพื่อสร้างความพร้อม รวมทั้งเมื่อมีการประกาศเป็นมาตรฐานบังคับ ก็มีกลไกการสนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการอย่างเป็นรูปธรรม (เช่น การจ่ายเงินอุดหนุนค่าตรวจสอบรับรอง การสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจและการผลิตเกษตรอินทรีย์อย่างมีประสิทธิภาพ) ซึ่งในประเทศไทยเอง ยังไม่ได้มีการเตรียมการเรื่องนี้มาก่อนล่วงหน้าแต่อย่างใด
- การกำหนดให้มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารใดเป็นมาตรฐานบังคับควรต้องประเมินความจำเป็นและความพร้อมก่อน ที่จริงแล้ว ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยของอาหารค่อนข้างมาก ทั้งที่ขายในประเทศและส่งออก ซึ่งภาครัฐได้จัดสรรงบประมาณจำนวนมากและได้พยายามวางระบบการตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารในประเทศมาหลายสิบปี จึงน่าจะมีประโยชน์ต่อประชาชนไทยมากกว่า ที่จะกำหนดมาตรฐานบังคับในเรื่องความปลอดภัยของอาหาร (เช่น ระบบเกษตรดีที่เหมาะสม) แทนที่จะกำหนดมาตรฐานบังคับกับเรื่องเกษตรอินทรีย์