จากข้อมูลที่เผยแพร่ในงานสัมนนา Biofach Southeast Asia 2019 (ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ในช่วงวันที่ 11 – 14 กรกฏาคม 2562) เกี่ยวกับสถานการณ์เกษตรอินทรีย์ในอาเซียน ซึ่งปัจจุบัน มีพื้นที่การผลิตเกษตรอินทรีย์รวมกันกว่า 3.5 ล้านไร่ และมีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์กว่า 237,507 ครอบครัว (เฉลี่ยที่ 15.19 ไร่ต่อครอบครัว) โดยประเทศที่มีเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์มากที่สุดก็คือ ฟิลิปปินส์ (166,001 ครอบครัว) แต่ประเทศที่มีพื้นที่การผลิตเกษตรอินทรีย์มากที่สุดคือ อินโดนีเซีย (กว่า 1.3 ล้านไร่) ส่วนประเทศไทยนั้น อยู่ในลำดับ 2 ในเชิงของจำนวนเกษตรกร และลำดับ 3 ในเชิงของพื้นที่
รัฐบาลใน 9 ประเทศได้จัดทำข้อกำหนดมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศตัวเองแล้ว (มีเพียงประเทศเมียนมาร์ ที่ยังจัดทำมาตรฐานไม่แล้วเสร็จ) ซึ่งมาตรฐานของทั้ง 9 ประเทศจะครอบคลุมเรื่องการผลิตพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ และมี 5 ประเทศที่มีมาตรฐานเรื่องการเลี้ยงสัตว์ และมีเพียง 3 ประเทศที่มีมาตรฐานเรื่องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยอย่างน้อย 5 ประเทศที่ได้มีข้อกำหนดบังคับเกี่ยวกับการใช้ฉลากเกษตรอินทรีย์
ในประเทศสมาชิกอาเซียนนี้ มีหน่วยตรวจรับรองที่เป็นของตัวเองรวม 23 หน่วยตรวจรับรอง โดยมีหน่วยตรวจรับรองเอกชนเกือบทั้งหมด ยกเว้นใน 3 ประเทศคือ ไทย (4 หน่วยตรวจรับรองภาครัฐ) มาเลเซีย (2 หน่วยตรวจรับรองภาครัฐ) และลาว (1 หน่วยตรวจรับรอง) และมีหน่วยตรวจรับรองต่างประเทศอีกกว่า 20 แห่งที่ให้บริการตรวจรับรองในภูมิภาคนี้
4 ประเทศ ที่ระบบการตรวจรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) ที่ค่อนข้างได้รับความนิยม คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม
สำหรับตลาดออร์แกนิคในภูมิภาคอาเซียนนี้มีมูลค่ารวมกันราว 60.79 ล้านยูโร (ราว 2,200 ล้านบาท)