ในการอภิปรายทางวิชาการ “สินค้าเกษตรอินทรีย์: การสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออกสู่สังคมโลก” ที่จัดขึ้นโดยสาขาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2554 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานวันสถาปนามหาวิทยาลัยฯ 33 ปี มีหัวข้อการอภิปรายเกี่ยวกับนโยบายและทิศทางการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ซึ่งทางมูลนิธิสายใยแผ่นดินได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรร่วม เพื่อแสดงความคิดเห็นเก่ี่ยวกับนโยบายการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ที่ผ่านมาแ ละแนวทางสำหรับอนาคต
ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้กล่าวถึงนโยบายการพัฒนาเกษตรอินทรีย์-เกษตรยั่งยืน ที่ได้เริ่มมีการกล่าวถึงตั้งแต่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 เมื่อ 15 ปีก่อน และในแผนฯ ต่างๆ หลังจากนั้น ก็มีการกล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด แต่นโยบายเกษตรอินทรีย์เริ่มเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น เมื่อมีการประกาศวาระแห่งชาติเกษตรอินทรีย์ในปี 2548 และต่อมา ได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2551-2554 และแผนปฏิบัติการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2551-2554 โดยในช่วง 5 ปีของแผนดังกล่าว มีการจัดสรรเงินงบประมาณราว 2,757 ล้านบาทสำหรับการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย
อย่างไรก็ดี ตัวแทนจากมูลนิธิสายใยแผ่นดินได้กล่าวถึงปัญหาผลสำเร็จของการดำเนินนโยบายดังกล่าวว่า มีผลน้อยมาก เพราะปริมาณการนำเข้าและการใช้สารเคมีการเกษตรของประเทศไทยยังคงเพิ่มขึ้น และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเพิ่มขึ้นเพียงประมาณพันครอบครัวเท่านั้น ดังนั้น นโยบายการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ไทยในอนาคตจะต้องให้ความสำคัญกับการแปรรนโยบายเป็นการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากกว่าที่ผ่านมา โดยประเด็นท้าทายหลักน่าจะเป็น
- การขาดการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน (ทั้งธุรกิจและองค์กรพัฒนาเอกชน) ทั้งๆ ที่ภาคเอกชนเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ แม้ว่าจะมีตัวแทนภาคเอกชนเข้าไปร่วมเป็นกรรมการต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐ แต่ก็เป็นไปในลักษณะแบบพิธีการมากกว่าจะสามารถแสดงบทบาทได้อย่างจริงจัง
- การปรับเปลี่ยนบทบาทของภาครัฐให้เป็นการสนับสนุนให้ภาคเอกชนทำ แทนที่ภาครัฐจะดำเนินการเองทั้งหมด
- การพัฒนากลไกส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ที่ตอบสนองต่อโจทย์ของเกษตรกร (มากกว่าโจทย์ของหน่วยงาน)