โครงกานี้เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อกลางปี 2556 ที่ผ่านมา โดยประกอบด้วยกิจกรรมการศึกษาปัญหาของกลุ่มเกษตรกรและกิจกรรมสนับสนุน ซึ่งประกอบด้วยการจัดอบรมให้ความรู้กับผู้นำเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ของ ส.ป.ก. เอง รวมทั้งการสนับสนุนงบประมาณสำหรับเป็นค่าตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์กับสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.)
ในส่วนของการสนับสนุน โครงการได้จัดกิจกรรมอบรมให้กับผู้นำเกษตรกรรวม 53 กลุ่ม และเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. ในเกือบ 20 จังหวัดภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเตรียมความพร้อมในการสมัครขอการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยกิจกรรมอบรมครั้งล่าสุดได้จัดขึ้นในช่วง 26 – 29 มีนาคมที่ผ่านมา ที่จังหวัดแพร่
บทเรียนความสำเร็จในการทำโครงการนี้ ก็คือ โมเดลความร่วมมือหลายฝ่าย ทั้งศูนย์พัฒนาเกษตรอินทรีย์ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน และทาง ส.ป.ก. เอง ซึ่งปัจจัยความสำเร็จนี้ควรจะมการนำไปขยายผลต่อนี้ ประกอบด้วย
(ก) มีการจัดสรรความร่วมมือรัฐ-เอกชน-ประชาชนที่มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ โดยอาศัยจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาหนุนเสริมและเกื้อกูลกันในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์กับเกษตรกรรายย่อย ไม่ใช่การทำดำเนินการโดยภาครัฐที่เป็น “ผู้ให้” กับกลุ่มเกษตรกร
(ข) การฝึกอบรมและการพัฒนาขีดความสามารถของกลุ่มกระทำโดยการศึกษาและการทำความเข้าใจปัญหาและความต้องการของกลุ่มก่อน แล้วจึงออกแบบหลักสูตรและเนื้อหาการฝึกอบรมที่ตอบโจทย์ปัญหาของกลุ่ม โดยไม่ดำเนินการจัดกิจกรรมอบรมแบบหลักสูตรพื้นฐานแบบเหวี่ยงแห ซึ่งไม่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของกลุ่ม จึงทำให้การฝึกอบรมมีประสิทธิผลสูงกว่า
(ค) มีกระบวนการสนับสนุนที่เน้นการให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม แทนที่จะเน้นที่เกษตรกรโดยตรง ซึ่งจะมีผลดีในระยะยาว เพราะกลุ่มเกษตรกรจะสามารถขับเคลื่อนให้เกษตรกรสมาชิกได้ปรับเปลี่ยนการผลิตเข้าสู่เกษตรอินทรีย์ รวมทั้งขอการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า โดยการสนับสนุนกลุ่มนั้นประกอบด้วยกิจกรรมที่ครอบคลุมหลายมิติทั้งการวิเคราะห์ปัญหาของกลุ่มเพื่อให้กลุ่มเข้าใจจุดอ่อนของตัวเองได้ดีขึ้น การจัดฝึกอบรมที่ใช้ปัญหาเกษตรกรเป็นตัวตั้ง การติดตามประเมินผล การฝึกอบรมซ้ำ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในแนวราบระหว่างกลุ่มเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ และการสนับสนุนงบประมาณการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ให้กับกลุ่ม