equivalent carbon dioxide – CO2e [คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า]
คือ ค่าความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะมีผลในการแผ่รังสี (radiative forcing) เท่ากันกับก๊าซเรือนกระจกต่างๆ โดยค่าคาร์บอนเทียบเท่านี้จะมีมีหน่วยเป็นส่วนในล้านส่วนโดยปริมาตร (ppmv) ยกตัวอย่างเช่น ค่าคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) ของบรรยากาศโลกในปี พ.ศ. 2293 จะเท่ากับ 278 ppmv และเพิ่มขึ้นเป็น 412 ppmv ในปี พ.ศ. 2541
El Nino – La Nino [เอลนิลโญ-ลาณีญา]
ในช่วงปรากฏการณ์ลาณีญา กระแสลมในมหาสมุทรแปซิฟิคจะพัดไปทางทิศตะวันตก ทำให้น้ำอุ่นที่อยู่ด้านบนของผิวน้ำ ไหลไปที่ชายฝั่งประเทศออสเตรเลีย และหมู่เกาะต่างๆ ที่อยู่ทางเหนือของออสเตรเลีย เมื่อน้ำอุ่นไหลไปทางตะวันตก กระแสน้ำฮัมโบลด์ที่เย็นกว่าที่อยู่ด้านล่างก็จะไหลขึ้นด้านบน บริเวณชายฝั่งทะเลแปซิฟิคของทวีปอเมริกาใต้
เมื่อกำลังกระแสลมอบอุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิคอ่อนตัวลง ปรากฏการณ์เอลนิโญก็จะเริ่มขึ้น โดยน้ำอุ่นที่เคยพัดไปทางตะวันตกจะไหลย้อนกลับไปทางตะวันออก และดันกระแสน้ำเย็นฮัมโบลด์กลับไปอยู่ใต้ทะเลเหมือนเดิม กระแสน้ำอุ่นที่ไหลกลับไปนี้จะพัดพาไอน้ำจากมหาสมุทรเข้าไปที่ทวีปอเมริกาใต้ ทำให้เกิดฝนตกในทวีปนั้น ส่วนน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิคด้านตะวันตกจะเย็นตัวลง ทำให้น้ำจากมหาสมุทรระเหยน้อยลง ส่งผลทำให้เกิดภาวะแห้งแล้งในทวีปออสเตรเลีย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อเอลนิโญรุนแรงสุดขั้ว จะเกิดภาวะแห้งแล้ง น้ำท่วม และสภาพอากาศผันผวนจะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ เกือบสองในสามของโลก โดยปรากฏการณ์เอลนิโญที่รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2540-41 จนถูกบันทึกว่าเป็นปีที่เกิดภาวะแห้งแล้งในประเทศต่างๆ อย่างกว้างขวาง และเกิดไฟป่าในหลายแห่งทั่วโลก
emission reduction [การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก]
แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจอย่างเป็นทางการ/บังคับ (compulsary emission reduction) และ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบสมัครใจ (voluntary emission reduction – VER)
การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจอย่างเป็นทางการ/บังคับนี้เป็นหนึ่งในข้อตกลงของอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCC) นั้นกำหนดให้ประเทศที่มีพันธกรณีภายใต้พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) [ซึ่งมีอยู่ 40 ประเทศที่ได้ลงนามในพิธีสารเกียวโต โดยส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ก็มีประเทศกำลังพัฒนาอยู่บางส่วน ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกค่อนข้างมาก ซึ่งประเทศเหล่านี้จะชื่อปรากฎอยู่ในภาคผนวก B ของพิธีสารเกียวโต] ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้อยู่ในกรอบของโควต้าการปล่อยก๊าซ (assigned allowance) ภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด ดังนั้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศเหล่านี้จึงเรียกว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นทางการ/บังคับ
ในกรณีที่ประเทศเหล่านี้ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศของตัวเองได้ตามกรอบโควต้า พิธีสารเกียวโตได้อนุญาตให้ประเทศเหล่านี้สามารถชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนเกินของตัวเองได้โดยใช้กลไกหนึ่งในต่อไปนี้
(ก) ซื้อโควต้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในกลุ่มประเทศภาคผนวก B ด้วยกันเอง
(ข) ซื้อหน่วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (emission reduction units – ERUs) จากโครงการ joint implementation projects ที่เป็นโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ในภาคผนวก B ด้วยกัน
(ค) ซื้อ certified emission reductions (CERs) จากโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (clean development mechanism – CDM) ซึ่งเป็นโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศกำลังพัฒนา ที่ไม่ได้อยู่ในภาคผนวก B
ส่วนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบสมัครใจนั้นเป็นเรื่องที่ประเทศแต่ละประเทศ อาจเลือกที่จะทำนโยบายนี้ ไม่ว่าจะมีพันธกรณีตามพิธีสารเกียวโต ที่ให้ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นทางการ/บังคับหรือไม่ก็ตาม ซึ่งรัฐบาลของบางประเทศอาจออกนโยบาย/มาตรการเพื่อสนับสนุนให้ภาคส่วนต่างๆ ในประเทศของตัวเองทำการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่อยู่นอกกรอบโควต้าการปล่อยก๊าซ (assigned allowance) ซึ่งเรียกการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนี้ว่าเป็น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบสมัครใจ โดยรัฐบาลของแต่ละประเทศอาจออกมาเป็นมาตรการบังคับภายในประเทศ หรือกระตุ้นให้ภาคเอกชน-ประชาชนเข้าร่วมโดยสมัครใจก็ได้
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบสมัครใจอาจแบ่งออกได้เป็น 6 ประเภท คือ
(1) มาตรการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (energy efficiency)
(2) มาตรการเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน (renewable energy)
(3) มาตรการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการขนส่ง
(4) มาตรการจัดทำโครงการประเภท carbon offset
(5) มาตรการติดฉลากคาร์บอน
(6) มาตรการตลาดคาร์บอนแบบสมัครใจ (voluntary carbon market)