Tools of the ITF: International Requirements for Organic Certification Bodies (IROCB) and EquiTool
ผู้แต่ง : UNCTAD-FAO-IFOAM
สำนักพิมพ์ : UNCTAD-FAO-IFOAM
วันที่พิมพ์ : 2009
Summary :
ในปี พ.ศ. 2546 FAO IFOAM และ UNTAD ได้ร่วมกันจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือ ITF (International Task Force on Harmonization and Equivalence in Organic Agriculture) เพื่อพัฒนาความร่วมมือและการยอมรับแบบพหุภาคีระหว่างประเทศของภาครัฐ โดยใช้ ITF เป็นเวทีในการระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการที่จะหาทางออกให้กับอุปสรรคของการค้าเกษตรอินทรีย์ระหว่างประเทศ ที่เกิดขึ้นจากการมีมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ กฎระเบียบทางเทคนิค และข้อกำหนดในการตรวจรับรอง ที่แตกต่างหลากหลาย  ITF ได้จัดทำ International Requirements for Organic Certification Bodies – IROCB (เกณฑ์ข้อกำหนดสำหรับหน่วยตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์) และ Guide for Assessing Equivalence of Organic Standards and Technical Requirements – EquiTool (แนวทางในการประเมินความทัดเทียมของมาตรฐานและกฎระเบียบทางเทคนิคเกษตรอินทรีย์)

IROCB เป็นข้อกำหนดในการดำเนินการสำหรับการตรวจสอบรับรอง ที่หน่วยตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ควรจะใช้สำหรับการทำงานของตัวเอง  เกณฑ์ข้อกำหนดใน IROCB มีพื้นฐานมาจากเกณฑ์ข้อกำหนด ISO Guide 65 และเกณฑ์ข้อกำหนดการรับรองระบบงานของสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM Accreditation Criteria) โดยได้ทำการปรับปรุงเกณฑ์ทั้งสองชุดเพื่อให้เหมาะสมกับระบบเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งมีข้อกำหนดเพิ่มเติมอื่น ที่ปัจจุบันได้กำหนดไว้ในกฎระเบียบเกษตรอินทรีย์ของภาครัฐและภาคเอกชน  วัตถุประสงค์ของ IROCB ก็คือ เกณฑ์อ้างอิงในการยอมรับหน่วยตรวจรับรองและกระบวนการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์  นอกจากนี้ ยังอาจใช้ IROCB เป็นเครื่องมือของหน่วยงานภาครัฐ หน่วยตรวจรับรองเอกชน และหน่วยรับรองระบบงาน ในการยอมรับผลการตรวจรับรองของหน่วยงานอื่น รวมทั้งใช้ IROCB เป็นเกณฑ์ข้อกำหนดกลาง ในการปรับปรุงข้อกำหนดที่แตกต่างกันให้เป็นเกณฑ์ข้อกำหนดเดียวกัน หรือยอมรับในความทัดเทียมซึ่งกันและกัน

EquiTool เป็นเครื่องมือสำหรับการประเมินความทัดเทียมกันของมาตรฐานการผลิตและการแปรรูปเกษตรอินทรีย์ ซึ่งใน EquiTool นี้ประกอบด้วยทั้งเกณฑ์และขั้นตอนในการประเมินความทัดเทียมของมาตรฐานเกษตรอินทรีย์กับเกณฑ์มาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล หรือการประเมินความทัดเทียมของมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ต่างมาตรฐานกัน (อย่างน้อย 2 มาตรฐานหรือมากกว่า) โดยอาจเป็นการประเมินความทัดเทียมแบบพหุภาคี (multilateral equivalence assessment) หรือทวีภาคี (bilateral equivalence assessment) หรือเป็นการประเมินความทัดเทียมของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพียงฝ่ายเดียว (unilateral equivalence assessment  การจัดทำเครื่องมือ EquiTool นี้ก็เพื่อให้รัฐบาล หรือหน่วยงานกำหนดมาตรฐานใช้ในการประเมินและเจรจาข้อตกลงการยอมรับความเท่าเทียมกันของมาตรฐานกับประเทศอื่นหรือหน่วยงานกำหนดมาตรฐานอื่น  การใช้ EquiTool ช่วยทำให้เกิดกระบวนการประเมินความทัดเทียมที่เป็นระบบ โปร่งใส และเป็นธรรมมากขึ้น

รหัสหนังสือ :  978-3-940946-17-1
จำนวนหน้า : 44
หมวด : เกษตรอินทรีย์ มาตรฐานต่างประเทศ