เมื่อวันที่ 4 กรกฏาคม 2554 ที่ผ่านมา โครงการสนับสนุนการปรับตัวฯ ได้ลงพื้นที่เียี่ยมชมกิจกรรมของโครงการนำร่องด้านการเกษตรในการปรับตัว เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศพื้นที่ ต.คลองจินดา อ.สามพราน จ.นครปฐม
การสัมมนาครั้งนี้เป็นการประเมินสภาพน้ำท่วมในระดับหมู่บ้านและระดับตำบล โดยใช้แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อให้ชาวบ้านใช้เป็นเครื่องมือประกอบการประเมินสภาพน้ำท่วมและหาแนวทางใน การจัดการปัญหาและรับมือกับน้ำท่วม ทั้งในระดับหมู่บ้านและระดับตำบล โดยอาศัยเทคโนโลยีแผนที่ ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือ เทคนิคเฉพาะในการ วางแผนและสร้างระบบเฝ้าระวัง อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้าน ก็ยังมีสภาพพื้นที่ที่แตกต่างกัน ดังนั้น ปัญหาน้ำท่วมที่ได้รับ จึงแตกต่างกันด้วย
ลักษณะของน้ำท่วมในพื้นที่ สามารถเกิดขึ้น ได้ 3 ทาง คือ น้ำฝน น้ำเหนือและ น้ำทะเลหนุน ดังนั้น การเฝ้าระวังและเตรียมการรับมือน้ำท่วม จึง ต้องครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน ทั้งนี้ เกษตรกรบางคน ยังเสนอว่า หากน้ำท่วมแล้วหนีอย่างเดียวไม่ได้ ต้องจัดเตรียมรับมือปัญหาหลังน้ำท่วมด้วย กล่าวคือ ต้องมีการย้ายพันธุ์กล้าไม้ผลต่างๆ ในสวนขึ้นไปบนที่สูง ซึ่งจากแผนที่ชุมชนพบว่า มีจุดที่สามารถทำเป็นพื้นที่อนุบาลพันธุ์พืช หรือเรือนเพาะชำกล้าไว้ได้ เมื่อน้ำลดก็สามารถที่จะนำพันธุ์พืชเหล่านั้นกลับมาปลูกใหม่ได้