ในช่วงกว่า 6 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิสายใยแผ่นดิน (กรีนเนท) ได้จัดทำโครงการสนับสนุนการพัฒนาการจัดการห่วงโซ่ข้าวออร์แกนิค-แฟร์เทรดให้กับหน่วยงานรากหญ้า (ทั้งองค์กรชาวบ้าน สหกรณ์ และองค์กรพัฒนาเอกชน) ในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จีน เขมร อินเดีย เวียดนาม ภูฐาน และศรีลังกา โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก Hivos ซึ่งหน่วยงานสนับสนุนการพัฒนาแบบยั่งยืนจากประเทศเนเธอร์แลนด์
ในประเทศศรีลังกา กรีนเนทได้จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้และให้คำปรึกษากับหน่วยงานต่างๆ กว่า 10 แห่ง เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการจัดการห่วงโซ่ข้าวออร์แกนิค-แฟร์เทรด ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ทำงานกับชาวนารายย่อยกว่าหมื่นครอบครัวในประเทศศรีลังกา (ชาวนาศรีลังกามีที่ดินเฉลี่ยเพียง 10 ไร่) ตั้งแต่ด้านรูปแบบและเทคนิคการส่งเสริมและการทำงานกับเกษตรกร การตรวจสอบรับรองมาตรฐานแบบต่างๆ การจัดการระบบคุณภาพข้าวเปลือกและข้าวสาร (ตั้งแต่การรับซื้อผลผลิตจนถึงขั้นการบรรจุข้าวสารเพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภค) และการจัดการตลาดแบบแฟร์เทรด
ในช่วงระหว่างวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิสายใยแผ่นดิน (วิฑูรย์ ปัญญากุล และไมเคิล คอมมันส์) ได้ร่วมกับเครือข่าย Sri Lanka Rice Chain Development Group (ซึ่งประกอบด้วย Farmer Federation for the Conservation of Traditional Seed and Agri-Resources, Lanka Organic Agriculture Movement, Sri Lanka Nature Group, และ Ecological Farming Training Center) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับประเทศ เพื่อวิเคราะห์การพัฒนาห่วงโซ่ข้าวในศรีลังกา รวมทั้งยุทธศาสตร์และแนวทางในการพัฒนาการผลิต-ตลาดข้าวออร์แกนิค โดยเฉพาะข้าวพื้นบ้าน
ผู้เข้าร่วมในการประชุมเกือบ 30 คนได้ร่วมกันวิเคราะห์ว่า จุดอ่อนสำคัญที่เป็นช่องว่างเร่งด่วนที่จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขมีอยู่ 3 เรื่องคือ ประสิทธิผลของระบบงานส่งเสริมในการสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นเกษตรอินทรีย์ ระบบการจัดการคุณภาพของห่วงโซ่ข้าว และการกำหนดมาตรฐานราคา เพื่อป้องกันการแข่งขันตัดราคากันเองระหว่างผู้ผลิต ซึ่งวิทยากรจากกรีนเนทได้ช่วยให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าว รวมทั้งการพัฒนาเครือข่าย Sri Lanka Rice Chain Development Group ตลอดจนความร่วมมือกับกรีนเนทในอนาคต
ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่กรีนเนทได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับการฟื้นฟูพื้นที่นาข้าวจากน้ำเค็ม ในเขตภาคใต้ของประเทศศรีลังกา ทีจัดโดย Southern Development Authority ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำหนดแนวทางและแผนการพัฒนาในเขตภาคใต้ของประเทศ การประชุมนี้มีผู้เข้าร่วมเกือบ 50 คน ทั้งจากเกษตรกร ผู้ประกอบการ องค์กรพัฒนาเอกชน และหน่วยงานราชการ เจ้าหน้าที่กรีนเนทได้นำเสนอประสบการณ์การจัดการห่วงโซ่ข้าวออร์แกนิค-แฟร์เทรด ที่กรีนเนทได้พัฒนาขึ้นในประเทศไทย รวมทั้งเครือข่ายความร่วมมือในระดับภูมิภาคเอเชียที่กรีนเนทได้พัฒนาขึ้น