ตลาดเกษตรอินทรีย์ในมาเลเซียยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่การผลิตดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นช้ามาก ทำให้การสัมมนาเกษตรอินทรีย์ของเมเลเซียในปีนี้พยายามระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการเร่งรัดการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในประเทศ ภายใต้หัวข้อหลักการประชุม “Fast Forwarding Organic Agriculture in Malaysia”
การสัมมนานี้จัดโดย CETDEM (Centre for Environment, Technology & Development, Malaysia) ในช่วงระหว่างวันที่ 2 – 3 กรกฎาคม ที่เมืองกัวลาลัมเปอร์ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม 30 คน และตัวแทนจากต่างประเทศเพียง 2 คน คือจากสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) และจากกรีนเนทประเทศไทย ที่ได้รับเชิญให้นำเสนอบทเรียนเกี่ยวกับการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับหน่วยงานเกษตรอินทรีย์ในมาเลเซีย
การผลิตเกษตรอินทรีย์ในมาเลเซียยังค่อนข้างมีขนาดเล็ก โดยมีพื้นที่การผลิตรวมกันประมาณ 9,625 ไร่ (ข้อมูลปี 2552) โดยส่วนใหญ่เป็นฟาร์มปลูกผักและผลไม้ ส่วนผลผลิตเกษตรอินทรีย์อื่นที่มีการผลิตได้แก่ ข้าว ปลา และไก่ ซึ่งประมาณ 2 ใน 3 ได้รับการตรวจรับรองจากกรมวิชาการเกษตรอินทรีย์ของมาเลเซีย ภายใต้แผนงาน Skim Organik Malaysia (SOM) ซึ่งกำหนดให้เกษตรกรผู้ผลิตพืชอินทรีย์ในประเทศต้องขอการตรวจสอบรับรองจากแผนงาน SOM แต่ไม่รวมถึงการเลี้ยงสัตว์และการแปรรูปอาหารออร์แกนิคอื่นๆ สำหรับตลาดเกษตรอินทรีย์นั้น มีมูลค่ารวมกันกว่า 500 ล้านบาท โดยมีร้านค้าขายปลีก/ขายส่งร่วมกันประมาณ 180 ราย ร้านอาหาร 12 แห่ง และผู้ประกอบการแปรรูปอีก 2 ราย (ข้อมูลจาก Organic Malaysia Directory 2012) ดูข้อมูลเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ในมาเลเซียเพิ่มเติมได้ที่บทความ “เกษตรอินทรีย์ในมาเลเซีย”
CETDEM เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในมาเลเซีย ซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2529 โดยเริ่มจากการทำฟาร์มตัวอย่างเกษตรอินทรีย์ สำหรับให้เป็นที่เรียนรู้กับคนที่สนใจ ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นศูนย์ชุมชนเกษตรอินทรีย์ (Organic Farming Community Center) CETDEM ได้ริเริ่มกิจกรรมเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ในมาเลเซียหลายด้าน เช่น การจัดนิทรรศการและงานแสดงสินค้าเกษตรอินทรีย์และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ (โดยจัขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2542) การจัดกิจกรรมรณรงค์กับผู้บริโภค และการจัดประชุมเกษตรอินทรีย์ระดับประเทศ