เกษตรอินทรีย์+ (อ่าน “เกษตรอินทรีย์พลัส”) แสดงให้เห็นว่า ระบบ PGS ในเครือข่ายนี้มีจุดร่วมกันที่เป็นไปตามหลักการเกษตรอินทรีย์สากล (คือ นิเวศ, สุขภาพ, เป็นธรรม, ระมัดระวัง) กลุ่มผู้ผลิตอาจมีข้อกำหนดเพิ่มเติมจากหลักการเกษตรอินทรีย์นี้ ยกตัวอย่างเช่น ระบบ PGS ของโครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่ามีข้อกำหนดให้เกษตรกรสมาชิกต้องมีมาตรการในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าที่เป็นพันธุ์ไม้พื้นถิ่นและการปลูกพืชหลายระดับชั้น ที่เป็นจำลองสภาพป่าธรรมชาติในแปลงกาแฟ หรือระบบ PGS ของเครือข่ายวนเกษตรมีข้อกำหนดให้เกษตรกรสมาชิกต้องมีพื้นที่วนเกษตร ที่ปลูกพืชสำหรับ “กิน-ใช้สอย-สร้างหลักประกัน” รวมทั้งต้องมีชนิดพืชไม่น้อยกว่า 100 ชนิดด้วย ดังนั้น สมาชิกของเครือข่ายจึงไม่ใช่เพียงแค่ปฏิบัติตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่เป็นไปตามหลักการเกษตรอินทรีย์ แต่ยังมีข้อกำหนดเฉพาะของกลุ่มที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อก่อให้เกิดการก้าวไปข้างหน้าของการรักษาสิ่งแวดล้อมและพัฒนาสังคม
แต่เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของระบบ กลุ่มผู้ผลิตสมาชิกเครือข่าย PGS เกษตรอินทรีย์+ จะได้รับการตรวจเยี่ยมโดยเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง และ/หรือจากกลุ่มผู้ผลิตอื่น เพื่อประเมินมาตรฐานและประสิทธิภาพ/ประสิทธิผลของการจัดทำระบบชุมชนรับรองของแต่ละกลุ่มทุกๆ 2 ปี ซึ่งทางเครือข่ายมีแผนว่า อาจมีการพิจารณาออกตรากลางเกษตรอินทรีย์ PGS ร่วมกันในอนาคต
ทางมูลนิธิสายใยแผ่นดินได้รับมอบหมายจากเครือข่ายให้ช่วยทำหน้าที่เป็นจุดประสานงานเป็นการเริ่มต้นไปก่อน รวมทั้งพัฒนาระบบและกลไกต่างๆ ตลอดจนแผนการฝึกอบรมการรับรองเกษตรอินทรีย์ PGS สำหรับสมาชิกเครือข่ายและหน่วยงานภายนอกที่อาจสนใจต่อไป