หน่วยงานต่างประเทศหลายแห่งได้ตระหนักปัญหานี้ และได้มีการริเริ่มจัดทำโครงการเพื่อผลักดันให้มีความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว หนึ่งในความริเริ่มนี้ก็คือ Global Organic Market Access (GOMA) ที่เป็นความร่วมมือระหว่างสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) องค์กรอาหารและการเกษตรสหประชาชาติ (FAO) และการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNTAD)
ในช่วงปีที่ผ่านมา GOMA ได้เริ่มผลักดันให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียปรึกษาหารือ และหาแนวทางในการร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหานี้ โดยได้จัดการประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง ที่ประเทศไทย จีน และอินเดีย โดยในการที่ประชุมที่อินเดียเมื่อเดือนธันวาคม 2553 ที่ประชุมได้มีข้อสรุปเบื้องต้นให้จัดทำมาตรฐานกลางเกษตรอินทรีย์สำหรับภูมิภาคเอเชีย (Asian Regional Organic Stanadrds – AROS) ที่เป็นไปตามเกณฑ์หลักการและแนวทางเกษตรอินทรีย์ของ Common Objectices and Requirements for Organic Standards (COROS) ที่เป็นเกณฑ์กลางที่สามหน่วยงานได้จัดทำขึ้นร่วมกัน และในการจัดทำมาตรฐานกลางเกษตรอินทรีย์ภูมิภาคเอเชีย (AROS) ได้มีการปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในประเทศไทย ทางมูลนิธิสายใยแผ่นดินได้ประสานงานกับสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ ศูนย์พัฒนาเกษตรอินทรย์ และสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ความเห็นต่อร่างมาตรฐาน นอกจากนี้ ทางสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติก็ได้ให้ความเห็นต่อมาตรฐานดังกล่าวด้วย
ในช่วงระหว่างวันที่ 26 – 27 กันยายนที่ผ่านมา ตัวแทนหน่วยงานราชการ ผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากประเทศต่างๆ 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้ประชุมร่วมกันที่กรุงโซล ประเทศเกาหลี โดยการประสานงานของ GOMA เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและกำหนดแนวทางในการดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาความร่วมมือในภูมิภาค โดยมีตัวแทนจากประเทศไทยที่เข้าร่วมจากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
หนึ่งในหัวข้อการปรึกษาหารือก็คือ มาตรฐานกลางเกษตรอินทรีย์ภูมิภาคเอเชีย (AROS) ซึ่งตัวแทนรัฐบาลที่เข้าร่วมต่างก็แสดงความสนใจในการนำมาตรฐานกลางนี้ไปใช้ในการประเมินความทัดเทียมกันของมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งจะทำให้สามารถยอมรับมาตรฐานซึ่งกันและกันได้ และจะช่วยให้การค้าเกษตรอินทรีย์ในภูมิภาคเอเชียขยายตัวเพิ่มขึ้น
ในระหว่างการประชุม คุณศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการ UNTAD ได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้เข้าร่วม และย้ำว่า ทาง UNTAD มีแนวนโยบายสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้มีการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ในทวีปเอเชียเพิ่มขึ้น