เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา โครงการสนับสนุนการปรับตัวฯ ได้เปิดเวที ระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางสร้างกลไกสนับสนุนการปรับตัวรับมือกับภาวะโลกร้อน ต่อเนื่อง จากครั้งแรก เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2554 โดยครั้งนี้ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นตัวแทนโครงการนำร่องการปรับตัว จากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โจทย์ใหญ่ในการระดมความคิดเห็นครั้งนี้คือ “ถ้าหากมีกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดสนใจจะทำเรื่องปรับตัวโลกร้อนในชุมชน จะเริ่มต้นจากตรงไหน?”
การระดมความคิดเห็นหรือความต้องการการสนับสนุนจากภาคีเครือข่าย พบว่า ยังมีช่องว่างระหว่างการสื่อสาร ทั้งในภาควิชาการ ภาคผู้นำแนวทางไปปฏิบัติและภาคชุมชนชาวบ้าน ทั้งนี้ หลายองค์กร ต้องการข้อมูลและเครื่องมือเพื่อไปกระตุ้นให้ชาวบ้านเกิดความตระหนักแต่ไม่ตระหนก เพื่อเตรียมรับมือกับสภาวะอากาศผันผวน ภัยพิบัติจากสภาวะอากาศแปรปรวน ตลอดจนภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดที่รับผิดชอบโดยตรงเรื่องกลไกสนับสนุนการปรับตัว หรือ อาจจะไม่มีหน่วยงานเฉพาะกิจเลยก็ได้ แต่ สิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ ภาคีเครือข่าย ความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งนี้ เพราะเรื่องการปรับตัว ไม่สามารถพิจารณาหรือดำเนินการแยกส่วนจากการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านต่างๆได้ ดังนั้น การสร้างหนทางหรือแนวทางเพื่อให้เกิดการเข้าถึิง และสื่อสาร ให้เข้าใจง่ายขึ้น ในทุกระดับหน่วยของการทำงานด้านการปรับตัว จึงเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า เนื่องจาก การปรับตัวต้องคิดในเชิงกระบวนการมากกว่าคำตอบสำเร็จรูปแบบตายตัว
ข้อเสนอในภาพรวม จึงเริ่มต้นจาก ระดับวิชาการที่เป็นหน่วยขององค์ความรู้ก่อนโดยใช้วิธีสื่อสารผ่าน virtual platform หรือ ผ่านทางเวปไซต์หรือทางสังคมออนไลน์ ทั้งนี้ การสร้าง สังคมออนไลน์ให้กับนักวิชการเป็นเรื่องยากอยู่แล้ว แต่ที่ยากยิ่งกว่า คือ การใส่เนื้อหา(content) เพื่อให้ สามารถสื่อสารได้ทุกระดับ ไม่ซ้ำซ้อนและทันสมัยอยู่เสมอ เมื่อสามารถดำเนินการเติมองค์ความรู้ผ่านระบบออนไลน์แล้ว ผู้ที่จะนำเครื่องมือหรือองค์ความรู้เหล่านั้นไปใช้ ได้แก่ NGOs หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ต้องการเครื่องมือ ที่หยิบใช้ง่ายหรือทำให้ผู้ใช้เข้าใจง่าย เพื่อนำไปสื่อสารและปฏิบัติต่อไปกับชุมชนหรือชาวบ้านในท้องถิ่น และกลุ่มผู้ปฏิบัติเหล่านี้เองที่จะเป็นผู้เติมองค์ความรู้ที่เรียกว่า บทเรียนในการปรับตัว กลับมาสู่ platform นี้ ต่อไป