เป้าหมายสำคัญของโครงการนี้ก็คือ การสนับสนุนให้เกษตรกรได้พัฒนาขีดความสามารถในการปรับตัวและรับมือกับความแปรปรวนของสภาพอากาศ ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยโครงการได้ทำงานสนับสนุนเกษตรกร 198 ครอบครัว ใน 6 อำเภอ 2 จังหวัดคือ อ.ไทยเจริญ อ.เลิงนกทา อ.มหาชนะชัย อ.คำเขื่อนแก้ว อ.กุดชุม ในจังหวัดยโสธร และ อ.แม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ โดยโครงการได้เริ่มจากการสร้างความตระหนักให้กับเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องถึงความสำคัญในการเริ่มการปรับตัวเพื่อรับมือกับโลกร้อน, ช่วยเกษตรกรและกลุ่มองค์กรชุมชนในการวิเคราะห์ภัยเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ, ค้นหาและวิเคราะห์ทางเลือกในการปรับตัวแบบต่างๆ และนำมาตรการเหล่านี้มาทดลองปฏิบัติใช้
มาตรการปรับตัว 5 มาตรการหลักที่โครงการสนับสนุนให้เกษตรกรได้ทดลองทำ คือ การปรับปรุงการจัดการน้ำในระดับไร่นา การปรับปรุงดินเพื่อให้ดินมีความยืดหยุ่นต่อความผันผวนของสภาพอากาศ (โดยเฉพาะภัยแล้ง) การกระจายการผลิตในฟาร์มให้มีความมั่นคงด้านอาหารมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงวันปลูก (โดยการสนับสนุนข้อมูลพยากรณ์อากาศท้องถิ่น) และการเปลี่ยนวิธีการตกกล้าข้าวและการปลูกข้าว
บทเรียนสำคัญ 6 เรื่องที่โครงการความร่วมมือนี้ได้ยกขึ้นมาเป็นบทเรียนที่เล่าสู่ในที่ประชุมประกอบด้วย (ก) การหามาตรการปรับตัวที่หลากหลายและเกื้อกูลกัน เพื่อให้เกษตรกรเป็นผู้ตัดสินใจเลือกใช้/ทดลองมาตรการเหล่านั้นเอง (ข) การปรับตัวต้องสามารถตอบโจทย์ระยะสั้นและโจทย์ระยะยาวของเกษตกรกร (ค) หนึ่งในปัจจัยความสำเร็จของโครงการคือ การมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมเกษตรที่ทำงานเกาะติดกับชาวบ้านและชุมชน (ง) การทำงานต้องเป็นการสร้างการเรียนรู้แบบต่อเนื่อง (จ) การสื่อสารข้อมูลของศูนย์พยากรณ์อาการชุมชน ที่เชื่อมโยงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ให้กับเกษตกร ภายใต้เงื่อนไขความต้องของเกษตรกร และ (ฉ) ความร่วมมือแบบบูรณาการ เพราะการปรับตัวต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญหลายด้าน ที่ยากที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะมีพร้อมสมบูรณ์ในตัวเอง
ในช่วงบ่ายของการสัมมนา มีการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นและแนวทางการทำงานร่วมกัน โดยหนึ่งในการประชุมกลุ่มย่อยที่ดำเนินการโดยมูลนิธิสายใยแผ่นดินเป็นเรื่องแผนที่นโยบาย (policy mapping) เกี่ยวกับเรื่องการปรับตัว ซึ่งจากการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่า นโยบายของราชการไทยดูเหมือนจะให้ความสําคัญกับการพัฒนามาตรการในจัดการภัยพิบัติจากสภาพอากาศมากกว่า ที่จะใส่ใจกับปัญหาผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพอากาศที่เป็นปัญหาผลกระทบ ที่อาจไม่รุนแรงถึงขึ้นระดับภัยพิบัติ แต่ก็สร้างผลกระทบและความเสียหายไม่น้อยให้กับเกษตรกร การมุ่งความสนใจกับเรื่องภัยพิบัตินี้สะท้อนให้เห็นได้ว่า หน่วยงานราชการไทยแท้จริงแล้วยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการปรับตัวในระดับที่ต่ำมาก และที่สำคัญก็คือ หน่วยงานราชการยังคงมีระบบการทำงานแบบต่างคนต่างทำ การทำงานแบบบูรณาการข้ามหน่วยงาน (ทั้งระดับกรมและกระทรวง) ยังคงเป็นเพียงแค่คำพูดสวยหรู แต่ยังไม่ได้มีผลในทางปฏิบัติแต่อย่างใด