ที่ประชุมได้ตระหนึกถึงการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเกษตรอินทรีย์ในภูมิภาค โดยเฉพาะในประเทศจีนและอินเดีย ซึ่งการผลิตและตลาดเกษตรอินทรีย์ได้พัฒนาเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการสนับสนุนอย่างจริงจังของภาครัฐ จนทำให้ประเทศอินเดียกลายเป็นประเทศที่มีเกษตรกรผู้ผลิตติดอันดับหนึ่งในสาม ของโลก และตลาดเกษตรอินทรีย์ภายในของประเทศจีนน่าจะเติบโตแซงหน้าตลาดเกษตรอินทรีย์ ในประเทศญี่ปุ่นแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคกลับมีการกำหนดระเบียบเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์กันมากขึ้น โดยหวังว่าจะทำให้เกิดการยอมรับจากประเทศที่มีตลาดเกษตรอินทรีย์ใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป แต่ในทางกลับกันได้ทำให้เกิดการกีดกันการค้าเกษตรอินทรีย์ภายในภูมิภาคนี้ ด้วยกันเอง เช่น ข้อกำหนดเกษตรอินทรีย์ของประเทศจีนที่กำหนดให้ผู้ตรวจต้องผ่านการอบรมและการ ขึ้นทะเบียนจากหน่วยงานกลางของประเทศจีน และต้องทำงานให้กับหน่วยตรวจสอบรับรองในประเทศจีนเท่านั้น ซึ่งทำให้ผู้ผลิตในประเทศอื่นต้องได้รับการตรวจจากผู้ตรวจชาวจีนเท่านั้น จึงจะสามารถได้รับการรับรองเพื่อส่งไปขายในประเทศจีนได้ ซึ่งกฎระเบียบในลักษณะนี้ ทำให้เกิดต้นทุนในด้านการตรวจสอบรับรองสูงมาก จนกลายเป็นการกีดกันการค้าโดยปริยาย
ผู้เข้าร่วมประชุมจาก 12 ประเทศ ซึ่งมีทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้ยอมรับถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการผลักดันให้มีการยอมรับความเท่าเทียมกัน ของมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (equivalence of organic standards) หรือการจัดทำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์กลางของภูมิภาคเอเชีย (harmonized Asian organic standards) รวมทั้งการหาแนวทางในการที่ทำให้เกิดการยอมรับของระบบการตรวจสอบรับรอง มาตรฐานของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยทำให้การค้าเกษตรอินทรีย์เป็นไปได้อย่างราบรื่นมากขึ้น
ที่ประชุมยังได้จัดตั้งคณะทำงาน ซึ่งในมีตัวแทนจากประเทศไทย ที่ประกอบมูลนิธิสายใยแผ่นดินและสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ในการที่จะร่วมกันผลักดันและดำเนินการในเรื่องดังกล่าวนี้ต่อไป