1) ไม่ใช่กฏระเบียบแต่เป็นการปฏิบัติตามระเบียบ
IFOAM-EU วิเคราะห์ว่า เป็นความเข้าใจผิดของคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปที่มองว่า กฏระเบียบที่มีอยู่นั้นมีข้อบกพร่อง จึงจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงระเบียบ เพราะจริงๆ แล้ว ที่ผ่านมาปัญหาอยู่ที่การนำระเบียบนั้นไปปฏิบัติใช้ต่างหาก โดยใช้การตีความโดยเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปและการบังคับใช้ระเบียบอย่างจริงจัง ดังนั้น การแก้กฏระเบียบจึงไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง
2) ประเมินผลกระทบไม่รอบคอบ
ในการประเมินผลกระทบของกฏระเบียบใหม่ที่ร่างขึ้นมานั้น (ในยุโรป ก่อนการออกกฏระเบียบต่างๆ จะต้องมีการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบก่อนประกาศใช้กฏระเบียบนั้น) ทางคณะกรรมาธิการยุโรปไม่ได้ดำเนินอย่างรอบคอบและครบถ้วน ทั้งในเรื่องของ (ก) ข้อมูลทางสถิติที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์นั้นก็ไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะจำนวนเกษตรกรที่มีระบบการผลิตแบบคู่ขนาน (ทำการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์และเกษตรเคมีคู่กัน แม้จะเป็นพืชต่างชนิด) ซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากกฏระเบียบใหม่ (ข) การจัดประชุมปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่กรรมาธิการเลือกเชิญผู้เข้าร่วมจากบางหน่วยงานเท่านั้น จึงไม่ใช่เป็นตัวแทนของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ครบถ้วน ดังนั้น การใช้ผลสรุปจากการประชุมนั้นในการประเมินผลกระทบจึงไม่ถูกต้อง และ (ค) กรรมาธิการไม่ได้ให้น้ำหนักความสนใจกับความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ ที่ได้ส่งเอกสารแสดงความคิดเห็นและท่าทีต่อร่างกฏระเบียบใหม่
3) ขาดแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน
แม้ว่า กรรมาธิการจะได้จัดทำแผนปฏิบัติการเกษตรอินทรีย์สหภาพยุโรป (EU Organic Action Plan) ในปี 2557 แต่ในแผนดังกล่าว ขาดการกำหนดแนวทางปฏิบัติ ไม่มีการกำหนดเป้าหมาย และระยะเวลาในการทำให้แผนบรรลุผล
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเอกสาร “Position on the Commission proposal for a new organic regulation: A roadmap towards sustainable growth of the EU organic sector“, IFOAM EU Group, 15 January 2015.