จากการสำรวจข้อมูลของ IFOAM – Organics International พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกรับรองแบบกลุ่ม (grower group certification) ที่มีค่าใช้จ่ายในการตรวจรับรองถูกกว่าการรับรองแบบฟาร์มเดี่ยว ซึ่งการรับรองแบบกลุ่มทั้งหมดอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น
กลางปี 2562 สหภาพยุโรปได้ออกกฏระเบียบใหม่ (EU Regulations 2018/848) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตในยุโรปเองสามารถขอการรับรองแบบกลุ่มได้ และต่อมาเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2562 สหภาพยุโรปยกร่างระเบียบวิธีปฏิบัติ (Implementing Rule) เกี่ยวกับผู้มีสิทธิเป็นสมาชิกกลุ่ม ข้อกำหนดเกี่ยวกับกลุ่ม รวมทั้งแนวทางการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์แบบกลุ่ม ที่อาจมีผลกระทบอย่างมากต่อกลุ่มผู้ผลิตทั่วโลก
คุณวิฑูรย์ ปัญญากุล ประธานสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์อาเซียน ได้วิเคราะห์ร่างระเบียบวิธีปฏิบัติใหม่นี้ในงานสัมมนาที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 ณ ห้องประชุม ร้านเลม่อนฟาร์ม แจ้งวัฒนะ โดยจัดโดยสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย ประธานสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์อาเซียน และสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ไทย พีจีเอส ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือ
* ไม่ควรจำกัดรูปแบบเฉพาะที่เป็นสหกรณ์, กลุ่มเกษตรกร, หรือวิสาหกิจชุมชน แต่เปิดกว้างให้รวมถึงกลุ่มผู้ผลิตที่ประสานงานโดยผู้ประกอบการแปรรูป/ส่งออก (ในปัจจุบัน ราวครึ่งหนึ่งของกลุ่มผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองจะอยู่ในรูปแบบนี้)
* ไม่ควรจำกัดสมาชิกของกลุ่มผู้ผลิตเฉพาะที่เป็นเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ ควรเปิดกว้างในเกษตกรกรอื่นเป็นสมาชิกได้ด้วย
* ควรอนุญาตให้เกษตรกรรายใหญ่ (ที่มีรายได้เกิน 25,000 ยูโรต่อปี) สามารถเป็นสมาชิกกลุ่มได้ โดยไม่ต้องขอการรับรองแยกเป็นฟาร์มเดี่ยว แต่ควรกำหนดให้เกษตรกรรายใหญ่ในกลุ่มต้องได้รับการตรวจโดยตรงจากหน่วยตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์
* ไม่ควรจำกัดจำนวนสมาชิกของกลุ่มไว้ที่ 1,000 คนเท่านั้น แต่ควรพิจารณาวิธีการสุ่มตรวจประเมินกลุ่ม ในกรณีที่มีสมาชิกผู้ผลิตเป็นจำนวนมาก (เช่น มากกว่า 2,000 คน)
* ควรเปิดโอกาสให้เกษตรกรขอการตรวจรับรองจากหน่วยตรวจรับรองได้มากกว่า 1 แห่ง ถ้าขอการรับรองผลผลิตต่างชนิดกัน (ไม่ควรอนุญาตเฉพาะในกรณีที่เป็นผลผลิตชนิดเดียวกัน)
* ไม่จำเป็นต้องรายงานการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มให้หน่วยตรวจรับรองทราบทุกเดือน แค่ปีละ 2 ครั้งก็เพียงพอ เพราะข้อมูลไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ดาวน์โหลดไฟล์นำเสนอได้ที่ [download]