สมาคมการค้าแฟร์เทรดสากล (International Fair Trade Association – IFAT) และหน่วยรับรองแฟร์เทรดสากล (Fairtrade Labelling Organisations International – FLO) ได้ร่วมกันให้คำนิยามความหมายของ “แฟร์เทรด” หรือ “การค้าที่เป็นธรรม” ไว้ว่า
“หุ้นส่วนทางการค้า ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพูดคุยแลกเปลี่ยน ความโปร่งใสและการเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างให้เกิดความเสมอภาคทางการค้าระหว่างประเทศ แฟร์เทรดช่วยสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการทำให้เกิดเงื่อนไขทางการค้าที่ดีขึ้น และช่วยปกป้องสิทธิของผู้ผลิตและลูกจ้าง ที่ด้อยโอกาส โดยเฉพาะผู้ผลิตและลูกจ้างในประเทศที่กำลังพัฒนา องค์กรแฟร์เทรด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้บริโภค มีการดำเนินกิจกรรมในการสนับสนุนผู้ผลิต การสร้างความรับรู้ให้กับสาธารณะ และรณรงค์เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงกฏระเบียบและวิถีปฏิบัติของระบบการค้า ระหว่างประเทศทั่วไป”
Fair Trade Charter
พฤษภาคม 2551
__________________________________________________________________________________
แนวทางการดำเนินงานขององค์กรแฟร์เทรด
(ก) ช่วยให้ผู้ผลิตที่ด้อยโอกาสได้เข้าถึงตลาด โดยเน้นการผลิตแบบพื้นบ้าน และส่งเสริมคุณค่าของผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ที่ได้ประโยชน์ทางสังคมต่อชุมชนเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ห่วงโซ่การค้าสั้นลง และผู้ผลิตสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้ราคาในราคาที่สูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการขายผ่านกลไกการตลาดทั่วไป
(ข) ความสัมพันธ์ทางการค้าที่เท่าเทียมและยั่งยืน โดยคู่ค้าจะพิจารณาถึงต้นทุนทั้งหมดของการผลิต ทั้งต้นทุนทางตรงและต้นทุนทางอ้อม ซึ่งรวมถึงต้นทุนในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และการลงทุนเพื่ออนาคต นอกจากนี้ ผู้ค้าแฟร์จะให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตของผู้ผลิตและคนงาน ที่ควรจะได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ซี่งไม่เพียงแต่จะต้องสูงพอที่จะตอบสนองต่อความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน แต่ยังครอบคลุมถึงการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ในอนาคตด้วย
(ค) การเสริมสร้างความสามารถและความเข้มแข็งให้กับองค์กรผู้ผลิต ให้ได้มีโอกาสเรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับสภาพเงื่อนไขของตลาดและการค้า ตลอดจนทิศทางแนวโน้ม เพื่อให้เกิดการพัฒนาความรู้ ทักษะ และทรัพยากร ที่จะช่วยให้องค์กรผู้ผลิตสามารถควบคุมและจัดการวิถีชีวิตของตัวเองได้มาก ขึ้น
(ง) การสร้างการรับรู้กับผู้บริโภคและการรณรงค์ โดยการเชื่อมโยงผู้ผลิตกับผู้บริโภค ซึ่ง จะทำให้ผู้บริโภคได้รับทราบถึงความยุติธรรมทางสังคม และแนวทางในการดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม การสนับสนุนจากผู้บริโภคช่วยทำให้องค์กรแฟร์เทรดสามารถรณรงค์ให้เกิดการ ปฏิรูปกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ อันจะนำไปสู่ระบบการค้าโลกที่เป็นเป็นธรรมและเท่าเทียมในที่สุด
(จ) การค้าที่เป็นธรรในฐานะ “สัญญาทางสังคม” โดยการปฏิบัติตามหลักการแฟร์เทรดเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จะต้องเริ่มต้นที่ ความมุ่งมั่นในการเป็นหุ้นส่วนทางการค้า ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพูดคุยแลกเปลี่ยน ความโปร่งใส และการเคารพซึ่งกันและกัน การค้าขายแบบแฟร์เทรดนี้เกิดขึ้นภายใต้ “สัญญาทางสังคม” ที่ผู้ซื้อตกลงที่จะทำบางสิ่งบางอย่างมากกว่าระบบตลาดทั่วไปในการช่วยกลุ่ม ผู้ผลิต และกลุ่มผู้ผลิตตกลงที่จะใช้รายได้เพิ่มจากการค้าที่เป็นธรรม ในการปรับปรุงสภาพเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิกในกลุ่ม โดยเฉพาะสมาชิกทีเป็นผู้ผลิตที่ด้อยโอกาสในกลุ่ม ดังนั้น การค้าที่เป็นธรรมจึงไม่ใช่การกุศลแบบให้เปล่า แต่เป็นหุ้นส่วนทางการค้า เพื่อการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา
____________________________________________________________________________________
แนวทางปฏิบัติของการค้าที่เป็นธรรม
แนวทางปฏิบัติของการค้าที่เป็นธรรม สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ แนวปฏิบัติภายในหน่วยงานขององค์กรการค้าที่เป็นธรรม และแนวปฏิบัติในการสัมพันธ์กับผู้ร่วมค้าแฟร์เทรด
(ก) แนวปฏิบัติภายในหน่วยงานขององค์กรการค้าที่เป็นธรรม
แนวปฏิบัติภายในหน่วยงานขององค์กรการค้า ที่เป็นธรรมครอบคลุมสำหรับหน่วยงานที่เป็นผู้ผลิต เช่น สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานผู้ผลิตนี้มีความสำคัญอย่างมาก ไม่ใช่เพียงเพราะว่าเป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์การค้าที่เป็นธรรม แต่เพราะการค้าที่เป็นธรรมจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่ได้มีการผลิตที่เป็นธรรม ความเป็นธรรมในการผลิตในที่นี้ประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 4 ด้าน คือ คน, สุขภาพ, สภาพแวดล้อม, และขบวนการ
1. คน: ให้ความเป็นธรรมกับพนักงาน/ ลูกจ้าง/ ซัพพลายเออร์ โดยองค์กรผู้ผลิตแฟร์เทรดจะต้องเคารพและให้ความเป็นธรรมกับพนักงานและ ลูกจ้างทุกคน ตลอดจนไปถึงผู้ที่องค์กรซื้อวัตถุดิบและบริการ มีนโยบายและการบริหารจัดการที่ไม่เอาเปรียบพนักงาน/ลูกจ้าง/ซัพพลายเออร์ และให้ความเท่าเทียมกันกับทุกๆ คน โดยไม่เลือกปฏิบัติทางเพศ ศาสนา ผิวสี ชาติพันธุ์ อายุ ฯลฯ ในการจ้างงาน และการจ่ายค่าตอบแทน
2. สุขภาพ: สภาพการทำงานที่ปลอดภัย โดยจัดสภาพแวดล้อมของการทำงานที่มีความปลอดภัยต่อพนักงานและคนงาน รวมมทั้งการมีสวัสดิการตามฐานะอย่างเหมาะสม มีการจัดระบบการป้องกันอุบัติภัยและความปลอดภัยในการทำงาน โดยการฝึกอบรมและการกระตุ้นให้พนักงานได้ให้ความสนใจกับเรื่องสุขอนามัยใน การทำงาน
3. สิ่งแวดล้อม: รักษาสิ่งแวดล้อม โดยการผลิตและการดำเนินการต่างๆ ขององค์กรต้องมีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม มีการคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตสินค้า กระบวนการผลิตสินค้า วัสดุหีบห่อ และการจัดการขยะที่เกิดจากการผลิต ตลอดจนมีการวางแผนการใช้พลังงานและทรัพยากรต่างๆ อย่างประหยัด มีประสิทธิภาพ
4. ขบวนการ: การรณรงค์เผยแพร่แนวทางการค้าที่เป็นธรรม โดยถือว่าเป็นภารกิจที่สำคัญหนึ่งขององค์การแฟร์เทรด โดยการรณรงค์นี้ก็เพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภคเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ระหว่างการบริโภคและผลกระทบต่อผู้ผลิต-สิ่งแวดล้อม รวมถึงการรณรงค์กับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หน่วยงานเหล่านั้นได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องการค้าที่ เป็นธรรม การรณรงค์นี้อาจรวมไปถึงการผลักดันนโยบายที่มีผลต่อโครงสร้างที่ทำให้ระบบ การค้าระหว่างประเทศมีความไม่เป็นธรรม
ด้วย
(ข) แนวปฏิบัติในการสัมพันธ์กับผู้ร่วมค้าแฟร์เทรด
ในส่วนของแนวปฏิบัติในการสัมพันธ์กับผู้ ร่วมค้าแฟร์เทรด เป็นแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานที่เป็นคู่ค้าในระบบ การค้าที่เป็นธรรม โดยคู่ค้าดังกล่าวควรจะมีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นธรรมด้วย ซึ่งความสัมพันธ์ทางการค้าอย่างเป็นธรรมประกอบด้วย 5 ด้าน คือ ตลาด, ราคา, ธรรมาภิบาล, ความสัมพันธ์, และการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
5. ตลาด: เปิดตลาดให้ผู้ผลิตที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ-สังคม รวมทั้งเกษตกรรายย่อย ชนพื้นเมือง กลุ่มผู้หญิง ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เป็นต้น เพื่อให้สามารถเข้าถึงตลาดที่รับซื้อผลผลิตของผู้ผลิตนั้นๆ ซึ่งการเปิดให้เข้าถึงโอกาสทางการตลาดนี้น่าจะช่วยทำให้ผู้ผลิตสามารถ จำหน่ายผลผลิตของตัวเองได้ในราคาที่ดีขึ้น อันจะช่วยแก้ปัญหาความยากจน ส่งผลต่อฐานะทางเศรษฐกิจ-สังคมของผู้ผลิต
6. ราคา: ราคาที่เป็นธรรม โดยราคาซื้อขายผลิตภัณฑ์ควรจะสะท้อนต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพของผู้ผลิต ที่ช่วยให้ผู้ผลิตและครอบครัวสามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ตามสมควรแก่อัตภาพ นอกเจากราคาที่เป็นธรรมแล้ว การค้าที่เป็นธรรมยังครอบคลุมถึงการมีเงื่อนไขทางการค้าอย่างเป็นธรรมด้วย ได้แก่ การชำระค่าสินค้าล่วงหน้า และการมีความสัมพันธ์ทางการค้าในระยะยาว
7. ธรรมาภิบาล: มีความโปร่งใสและสามารถอธิบายได้ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ร่วมค้าเป็นไปอย่างโปร่งใสในการทำธุรกิจร่วมกัน ให้ความเคารพและความยุติธรรมต่อคู่ค้า
8. ความสัมพันธ์ทางการค้า องค์กรแฟร์เทรดไม่ได้คำนึงถึงเพียงแค่ผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นสำคัญ แต่ตระหนักถึงความเป็นอยู่ที่ดีทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิตรายย่อย โดยองค์กรร่วมค้าควรพยายามรักษาความสัมพันธ์การค้าระยะยาว ที่ตั้งอยู่บนฐานของความเป็นพันธมิตร ความเชื่อมั่น และการเคารพซึ่งกันและกัน
9. พัฒนาผู้ผลิต องค์กร แฟร์เทรดควรมีความรับผิดชอบต่อผู้ผลิตในการช่วยเหลือผู้ผลิตและองค์กรผู้ ผลิตให้ได้พัฒนาความสามารถและศักยภาพในด้านต่างๆ ทั้งด้านการผลิต การบริหาร และการหาตลาด เช่น มีการฝึกอบรมด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ การเข้าร่วมงานขายระดับนานาชาติ การหาช่องทางทางการตลาดเพิ่ม
อ่านเพิ่มเติม
* กรีเนท (2551), แฟร์เทรด: หลักการและแนวทางปฏิบัติ, เอกสารถ่ายสำเนา, กรีนเนท, กรุึงเทพ.
* Michael Commons (2008), “IFAT and FLO agree on charter of generic fair trade principles”, The Organic Standards Vol 86, June 2008.
* Michael Commons (2008), “Fair trade products and supply chain certification: Consultation, round one”, The Organic Standards Vol 86, June 2008.
* เว็บไซต์ สมาคมการค้าแฟร์เทรดสากล (International Fair Trade Association – IFAT)
* เว็บไซต์ หน่วยรับรองแฟร์เทรดสากล (Fairtrade Labelling Organisations International – FLO)
* เว็บไซต์ หน่วยตรวจรัีบรองมาตรฐานแฟร์เทรด (FLO-Cert)