ในการประชุมนี้ มีหัวข้อหลักอยู่ 4 เรื่องคือ การผลิต (ครอบคลุมตั้งแต่การจัดการดิน ศัตรูพืช ระบบการปลูก ข้าว และคุณค่าของเกษตรอินทรีย์ต่อสุขภาพและความมั่นคงด้านอาหาร) การตลาด (ครอบคลุมการจัดการห่วงโซ่อุปทาน ระบบชุมชนรับรอง พฤติกรรมผู้บริโภค การตลาดขายตรง และการทำแบรนด์สินค้า) การศึกษา (ทั้งวิจัย ฝึกอบรม การจัดการความรู้ และการรณรงค์สร้างความรับรู้กับผู้บริโภค) และการจัดการการสนับสนุนด้านการเงินกับธุรกิจการเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเอกสารนำเสนอและประกอบการประชุม ผู้จัดจะนำขึ้นเว็บไซต์เพื่อให้ดาวน์โหลดได้ [link]
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้
(ก) มีการเพิ่มการลงทุนเกี่ยวกับงานวิจัยด้านเกษตรอินทรีย์ จากในปัจจุบันที่มีการจัดสรรงบประมาณเพียง 0.2 บาทต่อประชากรในการวิจัยเกษตรอินทรีย์ เมื่อเปรียเทียบงบประมาณสำหรับเกษตรทั่วไปที่มีอยู่ 24 บาทต่อประชากร
(ข) เงินกู้สำหรับการเกษตรส่วนใหญ่เป็นเงินกู้สำหรับเกษตรทั่วไป ที่มักจะมีการผนวกสารเคมีการเกษตรเป็นส่วนหนึ่งของเงินกู้ ซึ่งทำให้เกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ไม่สามารถใช้เงินกู้ในระบบดังกล่าวได้ ที่ประชุมได้เสนอให้มีการสนับสนุนเงินกู้โดยใช้แนวทางห่วงโซ่มูลค่า (value chain finance) โดยการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของธุรกิจทั้งห่วงโซ่ ไม่ใช่เฉพาะการผลิตหรือการค้า
(ค) ด้านการตลาด ที่ประชุมเสนอให้สมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศต่างๆ พยายามผลักดันให้มีความร่วมมือระหว่างสมาชิกในการจัดการโลจิสติคผลผลิตเกษตรอินทรีย์ร่วมกัน รวมทั้งสนับสนุนให้มีการค้าในระดับภูมิภาค (เช่น อาเซียน) ให้มากขึ้น
(ง) ในด้านการตรวจรับรอง ที่ประชุมสนับสนุนระบบชุมชนรับรอง (PGS) สำหรับการค้าเกษตรอินทรีย์ในท้องถิ่นหรือระดับประเทศ เพราะช่วยลดภาระต้นทุนให้กับผู้ผลิตและผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์
(จ) แม้ว่าที่ประชุมจะเห็นด้วยกับการลดการอุดหนุนการใช้สารเคมีการเกษตรลง เพราะผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยอมรับว่า รัฐบาลหลายประเทศคงไม่สามารถจะทำได้ ที่ประชุมจึงเสนอให้รัฐบาลโอนย้ายการอุดหนุนสารเคมีการเกษตรแล้วมาอุดหนุนเกษตรอินทรีย์แทน เพื่อสร้างสมดุลใหม่ของการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในประเทศ