หลายคนคงเห็นด้วยกับสำนวนที่ว่า การไม่มีโรค คือลาภอันประเสริฐ แม้ว่าวันนี้เราจะมีวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ทันสมัย ช่วยให้ผู้คนมีชีวิตยืนยาวขึ้น แต่การเจ็บป่วยจากโรคอันมีสาเหตุสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมและการบริโภคก็มิได้น้อยลง ปัจจุบันผู้คนทั่วโลกรวมทั้งบ้านเราให้ความสำคัญมากขึ้นกับการดูแลรักษาสุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอาหารการกิน กระแสของอาหารปลอดภัย ปลอดสารพิษ ปลอดสารเคมี อาหารจากวิถีธรรมชาติ เริ่มเป็นที่ได้รับความนิยมและสนับสนุนมากขึ้น อย่างยิ่งในกลุ่มของผู้รักสุขภาพ ผู้ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ผู้ป่วยและผู้สูงวัย ทำให้ตลาดของอาหารปลอดสารทุกวันนี้เริ่มคึกคัก ในซุปเปอร์มาเก็ต ร้านสุขภาพบางแห่ง หรือตลาดสดทั่วไป เราจะพบผัก ที่ติดป้ายหรือในบรรจุภัณฑ์ที่บอกว่า ปลอดสารพิษ อนามัย หรือออร์แกนิก ความหลากหลายเหล่านี้ก่อให้เกิดความสับสนในผู้บริโภคเป็นอย่างมาก และส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าผลผลิตเหล่านี้มีความแตกต่างกันอย่างไร และด้วยปริมาณของผักปลอดสารที่มีอยู่มากมายขณะนี้ ทำให้ผู้บริโภควางใจในคำว่า ‘ปลอดสาร’ นั้นคงจะปลอดภัย
ลองดูการเปรียบเทียบการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตผักสดในระบบต่างๆ อาจช่วยให้เข้าใจคำต่างๆ ที่พบบนผลิตภัณฑ์ผักได้ดียิ่งขึ้น
ข้อมูลจากตาราง เราจะเห็นว่าในระบบการผลิตผักปลอดสารพิษ ผักไฮโดรโพนิก และผักอนามัย ยังอนุญาติให้ใช้สารเคมีบางชนิดได้ แล้วอย่างไรจึงได้ชื่อว่า ‘ปลอดสาร’ ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 163 พ.ศ. 2538 ลงวันที่ 28 เมษายน 2538 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกคาง ให้ความหมายไว้ว่า ผักปลอดภัยจากสารพิษ หมายถึง ผลผลิตพืชผักที่ไมมีสารเคมีปองกันและกําจัดศัตรูพืชตกคางอยู หรือมีตกคางอยูไมเกินระดับมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกําหนดไว
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยข้อมูลการสุ่มตรวจสารเคมีตกค้างในผักสดตามท้องตลาดและซุปเปอร์มาเก็ต รวมถึงผักที่ได้รับการรับรองว่าเป็นผักปลอดภัย จากหลายแห่ง พบว่าจากการสุ่มตรวจเมื่อตอนกลางปี 2553 ในผัก 50 ชนิด (จากบทความผักปลอดสาร..อันตรายกว่า คม ชัด ลึก 17 สิงหาคม 2554)
ซึ่งใน 50 ชนิดที่สุ่มตรวจ พบ 8 ชนิด มีสารเคมีตกค้างมากที่สุดได้แก่ พริกขี้หนู คะน้า กวางตุ้ง ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ มะเขือเปราะ ผักชี กะหล่ำปลี และแตงกวา
และจากการตรวจผัก 39 ตัวอย่าง พบพิษอันตรายตกค้างได้แก่
สารไดโคโตฟอส 7 ตัวอย่าง
สารอีพีเอ็น(EPN) 4 ตัวอย่าง
สารเมโทมิล 1 ตัวอย่าง
สารคาร์โบฟูราน 1 ตัวอย่าง
ซึ่งสารทั้ง 4 ชนิด เป็นสารเคมีพิษอันตรายที่ต่างประเทศห้ามใช้
หากคำว่า ‘ปลอดสาร’ หรือปลอดภัยจากสารพิษ ที่ปรากฏบนบรรจุภัณฑ์ผัก เกิดขึ้นบนฐานการปฏิบัติตามหลักการโดยความหมาย หรือผ่านระบบการตรวจสอบน่าเชื่อถือ คงไม่น่าหนักใจนัก แต่จากข้อมูลข้างต้น พบว่าเรายังมีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับสารพิษตกค้างในผักที่ซื้อในตลาดหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งแม้แต่ในบรรจุภัณฑ์ที่มีถ้อยคำรับรองความปลอดภัยก็ตาม อาจเป็นไปได้ว่ารูปแบบการปลูกเพื่อการค้า ต้องมีผลผลิตเพื่อป้อนสู่ตลาด และสารเคมีพิษตกค้างเหล่านี้เกิดจาก
– การเก็บเกี่ยวผลผลิต ก่อนระยะเก็บเกี่ยว หลังจากการใช้สารพิษกำจัดแมลงทำให้สารพิษยังสลายตัวไม่หมด
– การใช้สารพิษกำจัดแมลงในปริมาณมากเกินความจำเป็นหรือใช้ร่วมกันหลายชนิด
– พื้นที่เพาะปลูกที่ใช้สารเคมี มีสารพิษตกค้างอยู่ในดินและน้ำ ซึ่งจะสะสมอยู่ในผักผลไม้ที่ปลูก
อย่างไรก็ดี หากเรายังพอใจและหลีกเลี่ยงไม่ได้กับการบริโภคผักที่ปลูกในระบบเพื่อการค้า และเราเองไม่สามารถมองเห็นสารพิษเหล่านี้ได้ด้วยตาเปล่าขณะที่เลือกซื้อ เราจึงไม่ควรประมาทในความเสี่ยงต่อการได้รับสารเคมีพิษตกค้าง ก่อนการบริโภคควรล้างผักเหล่านั้นในสะอาด หรือแช่ในน้ำไว้สัก 10 นาที จะเติมเกลือ ด่างทับทิม โซเดียมไบคาร์บอเนต น้ำปูนใส น้ำส้มสายชู แล้วล้างออกอีกครั้ง อาจช่วยลดปริมาณสารพิษตกค้างในผักได้บ้าง หรือเลือกรับประทานผักตามฤดูกาล ก็นับเป็นอีกหนทางหนึ่ง
หมายเหตุ