เตรียมยกร่างยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แห่งชาติใหม่
หลังจากที่แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2551 – 2554 ได้สิ้นสุดลง ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ จากเดิมที่มีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นเลขานุการ ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) ได้เข้ามารับผิดชอบดูแลงานเลขานุการแทน ซึ่งทางกระทรวงเกษตรฯ ได้ยกร่างโครงสร้างคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติใหม่ เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 โดยคณะกรรมการชุดใหม่มีจำนวน 24 คน (ลดลงจากเดิมที่มี 29 คน) โดยมีตัวแทนจากภาคเอกชน ที่ไม่ใช่หน่วยงานราชการจำนวน 6 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยประธาน (รองนายกรัฐมนตรี) จากเดิมที่เคยมี 9 คน โดยกรรมการจากภาคเอกชนในคณะกรรมการชุดใหม่นี้ประกอบด้วยตัวแทนจากสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และมูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ และผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน คือ นายอภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย (ประธานมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย) รศ.ดร.นพ.พิชิต สุรรณประกร (รองประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยาก) และนายวิเชียร ฉายศิริ (เครือข่ายเกษตรอินทรีย์บูรพา) โดยคณะกรรมการได้จัดประชุมครั้งแรกขึ้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2555

จากการสรุปผลการทำงานในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาของแผนปฏิบัติการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ (ตามกรอบของแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเกษตรอินทรีย์) มีผลความก้าวหน้าในหลายด้าน โดยเฉพาะ

  • การเผยแพร่และประยุกต์ใช้งานวิจัยจำนวน 92 เรื่อง
  • การจัดทำฐานข้อมูล 3 เรื่อง คือ นวัตกรรมธุรกิจเกษตรอินทรีย์ การตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ และองค์ความรู้และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์
  • ผลักดันให้มีการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ 33 โครงการ
  • เผยแพร่ความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐและเกษตรกร 62,886 คน
  • จัดงาน Organic and Natural Expo 2011
  • จัดทำเครื่อข่ายความรู้ในระดับภูมิภาค 13 แห่ง
  • ส่งเสริมและถ่ายทอดการใช้ปัจจัยการผลิตทดแทนการใช้สารเคมีให้เกษตรกร 70,000 กลุ่ม 3.85 ล้านราย
  • ถ่ายทอดความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้เกษตรกร 34,800 กลุ่ม 1.8 ล้านราย
  • รับรองเกษตรกร ผักและผลไม้ 2,046 ราย ข้าว 1,697 ราย ประมง 27 ราย ปศุสัตว์ 25 ราย

แต่ทั้งนี้ ไม่มีการสรุปว่า ได้มีการใช้เงินงบประมาณในการดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเป็นจำนวนเท่าไหร่  นอกจากนี้ ทางกระทรวงเกษตรฯ ยังได้วิเคราะห์ว่า แนวทางการสงเสริมเกษตรอินทรีย์ในช่วงต่อไปยังคงควรจะให้ความสำคัญกับ 2 แนวทาง คือ เกษตรอินทรีย์สำหรับตลาดภายในประเทศและเกษตรอินทรีย์สำหรับการส่งออก

คณะกรรมการได้มีมติให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ 19 คน เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2556 – 2559 โดยกรอบแนวคิดเบื้องต้นของยุทธศาสตร์ดังกล่าวน่าจะเน้นการพัฒนา 8 ด้าน คือ บุคลากรด้านเกษตรอินทรีย์ ระบบฐานข้อมูล โครงสร้างพื้นฐาน (เช่น โรงงานปุ๋ยอินทรีย์ ฉางข้าว โรงสีชุมชน) มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทยแบบ one stop service เครือข่ายวิสาหกิจระหว่างผู้ผลิตและผู้ประกอบการ กองทุนหมุนเวียนสนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการ ช่องทางจำหน่ายผลผลิต และกลไกกำกับดูแลเชื่อมโยงการทำงานระดับชาติ-จังหวัด-พื้นที่