- หมวด/ระบบเกษตรที่ดีอื่นๆ
- หมวด/เกษตรอินทรีย์
- องค์ความรู้
- องค์ความรู้/for Consumers
- องค์ความรู้/for Producers
นอกเหนือจากเกษตรอินทรีย์แล้ว ยังมีระบบการเกษตรอีกหลายระบบที่ได้มีการพัฒนาขึ้น เพื่อพยายามนำเสนอแนวทางใหม่ในการพัฒนาการเกษตร ที่มีความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ ระบบเกษตรที่เน้นความสำคัญด้านความปลอดภัยของผลผลิตในการบริโภค ระบบที่ต้องการสร้างความมั่นคงให้กับการเผลิตและเกษตรกร และระบบที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และบางระบบ/แนวทางก็เป็นระบบที่พบเฉพาะแต่ในประเทศไทย (เช่น เกษตรปลอดสารพิษ) แต่บางระบบก็เป็นระบบที่มีในต่างประเทศด้วย
นอกเหนือจากเกษตรอินทรีย์แล้ว ยังมีระบบการเกษตรอีกหลายระบบที่ได้มีการพัฒนาขึ้น เพื่อพยายามนำเสนอแนวทางใหม่ในการพัฒนาการเกษตร ที่มีความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ ระบบเกษตรที่เน้นความสำคัญด้านความปลอดภัยของผลผลิตในการบริโภค ระบบที่ต้องการสร้างความมั่นคงให้กับการเผลิตและเกษตรกร และระบบที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และบางระบบ/แนวทางก็เป็นระบบที่พบเฉพาะแต่ในประเทศไทย (เช่น เกษตรปลอดสารพิษ) แต่บางระบบก็เป็นระบบที่มีในต่างประเทศด้วย
ตารางข้างล่างเปรียบเทียบความแตกต่างของระบบเกษตรแต่ละประเภท
ชื่อ | ชื่ออื่นที่อาจเรียกกัน | เป้าหมายที่เน้น | การตรวจรับรองมาตรฐาน |
เกษตรอินทรีย์ | ออร์แกนิค, organic farming, ecological farming, biological farming | อนุรักษ์นิเวศการเกษตร/สิ่งแวดล้อม | มีหลายมาตรฐาน และหลายหน่วยตรวจรับรอง |
เกษตรธรรมชาติ | natural farming | อนุรักษ์นิเวศการเกษตร/สิ่งแวดล้อม | ไม่มีการตรวจรับรองโดยตรง |
วนเกษตร | agroforestry | อนุรักษ์นิเวศการเกษตร/สิ่งแวดล้อม | ไม่มีการตรวจรับรองโดยตรง |
เพอร์มาคัลเชอร์ | เกษตรถาวรภาพ, เกษตรกรรมถาวร, permaculture | อนุรักษ์นิเวศการเกษตร/สิ่งแวดล้อม | ไม่มีการตรวจรับรองโดยตรง |
ไบโอไดนามิค | เกษตรชีวพลวัตร, Biodynamic | อนุรักษ์นิเวศการเกษตร/สิ่งแวดล้อม | มีมาตรฐานและตรวจรับรองได้ |
เกษตรผสมผสาน | Integrated farming | สร้างความมั่นคงให้กับการผลิต/เกษตรกร | ไม่มีการตรวจรับรอง |
เกษตรทฤษฎีใหม่ | New Theory Agricutlrue | สร้างความมั่นคงให้กับการผลิต/เกษตรกร | ไม่มีการตรวจรับรอง |
เกษตรยั่งยืน | Sustainable agriculture | สาร้างความมั่นคงให้กับการผลิต/เกษตรกร | ไม่มีการตรวจรับรอง |
เกษตรดีที่เหมาะสม | GAP (Good Agricultural Practice) | ความปลอดภัยของผลผลิตการเกษตร | มีการตรวจรับรอง |
เกษตรปลอดภัยจากสารพิษ | เกษตรปลอดสารพิษ | ความปลอดภัยของผลผลิตการเกษตร | มีการตรวจรับรอง |
กสิกรรมไร้สารพิษ | เกษตรปลอดสารเคมี | ความปลอดภัยของผลผลิตการเกษตร | ไม่มีการตรวจรับรอง |
เกษตรอินทรีย์
เป็นระบบเกษตรที่เน้นในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมีหลักการสำคัญ 4 ด้าน คือ สุขภาพ นิเวศ ความเป็นธรรม และการดูแลเอาใจใส่ (heatlh, ecology, fair, and care) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักการเกษตรอินทรีย์ได้ใน “หลักการเกษตรอินทรีย์”
หน่วยงานที่ทำงานด้านเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยมีหลายหน่วยงาน เช่น
- มูลนิธิสายใยแผ่นดิน/กรีนเนท ทำงานด้านการส่งเสริมการผลิต แปรรูป และการตลาด
- สมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย หน่วยงานกลางของผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย
- สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทย ให้บริการตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
เกษตรธรรมชาติ
มีหลักแนวคิดที่อาศัยกระบวนการและกลไกธรรมชาติในการทำเกษตร โดยการพยายามเข้าไปจัดการฟาร์มแต่เท่าที่จำเป็นจริงๆ โดยการจัดการฟาร์มนั้นจะเป็นจุดสำคัญและในช่วงจังหวะเวลาที่เฉพาะ ซึ่งทำให้พืชและสัตว์มีสภาพที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด แต่ในขณะเดียวกัน ก็สามารถมีผลผลิตสำหรับเกษตรกรได้ ปรามาจารย์ที่เป็นผู้คิดค้นเกษตรธรรมชาติ คือ ท่านมาซาโนบุ ฟูกูโอกะ (Masanobu Fukuoka) ชาวญี่ปุ่น
หลักแนวปฎิบัติของเกษตรธรรมชาติตามแนวทางของท่านฟูกูโอกะมีอยู่ 5 คือ ไม่ไถพรวน ไม่ใส่ปุ๋ย ไม่กำจัดวัชพืช ไม่กำจัดแมลงและศัตรูพืช และไม่ตัดแต่งกิ่งไม้
ระบบเกษตรธรรมชาติในแนวทางนี้ไม่สนับสนุนให้มีการใช้เครื่องจักรกลในฟาร์ม ถ้าจำเป็น ก็อาจเป็นเครื่องมือการเกษตรแบบง่ายๆ เพราะไม่ต้องการให้มีการแทรกแซงกระบวนการธรรมชาติในฟาร์ม พื้นที่เพาะปลูกจะมีพืชและวัชพืชขึ้นคลุมดินอยู่ตลอดเวลา เพื่อเป็นการอนุรักษ์หน้าดินไว้ ระบบเกษตรธรรมชาติที่มีการประยุกต์ใช้ในประเทศไทยได้แก่ การทำนาเกษตรธรรมชาติ ที่เกษตรกรจะหว่านข้าวเปลือกและถั่วเขียวร่วมกัน และจึงคลุมฟางทับ ซึ่งถั่วเขียวจะงอกขึ้นมาก่อน เมื่อฝนเริ่มตก หลังจากนั้น ข้าวจะงอกขึ้นมาตาม เมื่อมีฝนมากขึ้น น้ำเริ่มขังในแปลงนา ถั่วเขียวก็จะตาย และถูกย่อยสลายให้เป็นปุ๋ยกับต้นข้าว อีกแนวทางหนึ่งของเกษตรธรรมชาติก็คือ การเลี้ยงเป็ดในนาข้าว ที่จะปล่อยลูกเป็ดลงในแปลงนา หลังจากต้นข้าวเพิ่งเริ่มปักดำไม่นานนัก ซึ่งเป็ดจะช่วยกำจัดวัชพืช กำจัดแมลง และให้ปุ๋ยกับต้นข้าว
นอกจากแนวทางเกษตรธรรมชาติของท่านฟูโกโอกะแล้ว มีนักปรัชญาชาวญี่ปุ่นอีกท่านหนึ่ง คือ ท่านนโมกิจิ โอกะดะ (Mokichi Okada) ที่เสนอแนวทางการทำเกษตรที่คล้ายกัน แต่เน้นในเรื่องการใช้จุลินทรีย์แบบต่างๆ ในการเกษตร ซึ่งมีการแตกสายของการพัฒนาออกเป็นกลุ่มต่างๆ หลายกลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งได้คัดเลือกและพัฒนาจุลินทรีย์ดินสำหรับใช้ในการเกษตรขึ้นมา ที่เรียกกันว่า “EM หรือ Effective Microorganisms” ซึ่งได้มีการเผยแพร่แนวทางเกษตรธรรมชาตินี้ไปในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเกาหลี ซึ่งมีกลุ่มเกษตรธรรมชาติอยู่ค่อนข้างมาก และได้พัฒนาเทคนิคปฏิบัติอีกหลายด้าน เช่น การทำน้ำหมักฮอร์โมนจากผักและผลไม้ หมูหลุม ฯลฯ
ในประเทศไทย มีทั้งกลุ่มที่ทำเกษตรกรรมธรรมชาติตามแนวทางของท่านฟูโกโอกะและท่านโอกะดะ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นแนวทางที่ 2 เพราะค่อนข้างเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ แต่บางกลุ่มก็ได้ทำการประยุกต์ โดยทำการคัดเลือกและพัฒนาจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในประเทศไทยขึ้นมาเอง
หน่วยงานในประเทศไทยที่ส่งเสริมระบบเกษตรธรรมชาติมีหลายหน่วยงานมาก เช่น
วนเกษตร
เป็นแนวทางการจัดการที่ดินและการเกษตรที่เน้นการปลูกไม้ยืนต้นที่ใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้เป็นหลัก (woody perennials) ร่วมกับการปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารหรือประโยชน์อื่น และ/หรือการสัตว์เลี้ยง ในลักษณะผสมผสานกันเป็นนิเวศการเกษตรที่เลียนแบบธรรมชาติป่า โดยลักษณะเด่นของการจัดการฟาร์มแบบวนเกษตรที่แตกต่างจากระบบเกษตรแบบอื่นคือ ตั้งใจ (intentional) เข้มข้น (intensive) มีปฏิสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกัน (interactive) และ ผสมผสานหลากหลาย (integrated)
[ตั้งใจ] เลือกปลูกไม้ยืนต้น พืช และเลี้่ยงสัตว์ ที่ผสมผสานกันแบบองค์รวม โดยการตั้งใจออกแบบและจัดการสวนที่เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ได้เน้นเฉพาะการดูแลพืช/สัตว์อย่างใดอย่างหนึี่งเป็นหลัก
มีการจัดการแบบ [เข้มข้น] ทั้งการเพาะปลูก การใส่ปุ๋ยบำรุงดิน และการให้น้ำกับต้นไม้ เพิ่ือให้พืชที่ปลูก/สัตว์ที่เลี้ยงสามารถให้ผลผลิตได้ดี
วนเกษตรจะจัดการฟาร์มเพื่อให้ต้นไม้ พืช และสัตว์ มี [ปฏิสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกัน] ทั้งทางชีวภาพและทางกายภาพ เพื่อที่จะให้สวนวนเกษตรมีผลผลิตต่างๆ ในเวลาเดียวกัน และในขณะเดียวกัน ก็เป็นการอนุรักษ์นิเวศธรรมชาติ ที่ให้บริการนิเวศ (ecological services) เช่น ทำให้น้ำสะอาด เป็นที่อยู่ของสัตว์ป่า อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
มีการ [ผสมผสาน] ของต้นไม้ พืช และสัตว์ เข้ามาร่วมกัน ซึ่งอาจจะเป็นการปลูกพืชหลายอย่างในแนวระนาบ (พืชร่วม พืชแซม) หรือ ในแนวดิ่ง (พืชหลากหลายชั้นความสูง) ซึ่งทำให้สวนวนเกษตรสามารถมีผลผลิตที่สูง สร้างสมดุลของนิเวศการเกษตร และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
ในประเทศไทย มีหน่วยงานไม่กี่แห่งที่ส่งเสริมระบบวนเกษตร หน่วยงานหลัก คือ มูลนิธิวนเกษตรเพื่อสังคม
เพอร์มาคัลเชอร์
มีบางคนแปลว่า เกษตรกรรมถาวร หรือ เกษตรถาวรภาพ แต่ที่จริงแล้ว เพอร์มาคัลเชอร์ไม่ใช่ระบบเกษตร แต่เป็นระบบการออกแบบที่ดิน ซึ่งส่วนใหญ่จะนำมาใช้ในการออกแบบฟาร์มเกษตร แต่ก็สามารถประยุกต์ใช้เพอร์มาคัลเชอร์ในการออกแบบเมือง หรืออื่นๆ ได้ หลักการพื้นฐานในการออกแบบของเพอร์มาคัลเชอร์ประกอบด้วย 8 เรื่อง คือ
(1) ที่ตั้งแบบสัมพันธภาพ
(2) แต่ละองค์ประกอบมีหลายบทบาทหน้าที่
(3) หน้าที่สำคัญต้องมีหลายองค์ประกอบร่วมกัน
(4) ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
(5) ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ
(6) นำพลังงานธรรมชาติมาใช้ประโยชน์
(7) ใช้พื้นที่อย่างเข้มข้น โดยการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์อย่างหลากหลายร่วมกัน
(8) ใช้ชายขอบและลวดลายธรรมชาติ
เกษตรทฤษฎีใหม่
ตั้งอยู่บนกรอบแนวคิดของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งหลักปรัชญานี้ประกอบด้วย 3 หลักการ และ 2 เงื่อนไข คือ หลักความพอประมาณ (Moderation) หลักความมีเหตุผล (Reasonableness) และหลักการมีภูมิคุ้มกัน (Immunity) ส่วน 2 เงื่อนไข คือ เงื่อนไขความรู้ และเงื่อนไขคุณธรรม
ส่วนเกษตรทฤษฎีใหม่ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติหนึ่งของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีขั้นตอนของการพัฒนาแบ่งออกได้ 3 ขั้น คือ
ขั้นที่ 1 ทฤษฎีใหม่ขั้นต้น
เริ่มต้นจากการมุ่งแก้ปัญหาของเกษตรกรที่มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเกษตร โดยการใช้แนวทางการจัดทำแหล่งน้ำขนาดเล็กในฟาร์ม เช่น การขุดบ่อ ซึ่งจะทำให้ลดความเสี่ยงในเรื่องน้ำ เกิดหลักประกันในการผลิตอาหารเพื่อการยังชีพเบื้องต้น ส่วนที่ดินการเกษตรอื่น จะใช้ในการผลิตเพื่อตอบสนองกับความต้องการพื้นฐานอื่นของครอบครัว ซึ่งอาจมีการขายผลผลิตส่วนเกินเพื่อเป็นรายได้ สำหรับใช้จ่ายในการยังชีพที่จำเป็น ที่ไม่สามารถผลิตเองได้ การเกษตรทฤษฎีใหม่ในขั้นนี้ จึงเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในระดับครอบครัว แต่เกษตรกรส่วนใหญ่อาจไม่สามารถเริ่มต้นในขั้นตอนแรกนี้ได้ และอาจจำเป็นที่หน่วยงานต่างๆ จะต้องจัดความช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนเกษตรกร
ในเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นต้นนี้ มีแนวทางสำคัญในการการจัดสรรที่ดินการเกษตรและที่อยู่อาศัย โดยแบ่งพื้นที่ ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30:30:30:10 คือ พื้นที่ส่วนที่หนึ่งประมาณ 30% ให้ขุดสระเก็บกักน้ำ เพื่อใช้เก็บกักน้ำฝนในฤดูฝนและ ใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์น้ำและพืชน้ำต่างๆ พื้นที่ส่วนที่สองประมาณ 30% ให้ปลูกข้าวในฤดูฝน เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันในครัวเรือนให้เพียงพอตลอดปี เพื่อตัดค่าใช้จ่ายและสามารถพึ่งตนเองได้ พื้นที่ส่วนที่สามประมาณ 30% ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่าย และพื้นที่ส่วนที่สี่ประมาณ 10% ใช้เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนอื่นๆ (กรมพัฒนาที่ดิน 2553)
ขั้นที่ 2 ทฤษฎีใหม่ขั้นกลาง
เมื่อเกษตรรได้เริ่มต้นปฏิบัติตามเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นต้นแล้ว มีความพอเพียง และความมั่นคงในขั้นพื้นฐานระดับหนึ่งแล้ว ในขั้นตอนต่อมาจึงเป็นเรื่องของการรวมกลุ่มเกษตรกรในรูปแบบต่าง เช่น กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ หรือวิสาหกิจ ซึ่งการร่วมมือกันนี้ก็เพื่อสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับกลุ่มโดยรวม บนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน การแบ่งปันช่วยเหลือกันตามกำลัง และความสามารถของตน ซึ่งจะทำให้ชุมชนโดยรวมเกิดความพอเพียงในวิถีปฏิบัติด้วย
ขั้นที่ 3 ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า
กลุ่มเกษตรกรที่ได้ดำเนินการตามทฤษฎีใหม่ในขั้นกลาง จนประสบความสำเร็จเบื้องต้น อาจก้าวเข้าสู่ขั้นก้าวหน้า โดยการประสานความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ในระดับประเทศ เพื่อยกระดับการทำธุรกิจ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เช่น การทำความร่วมมือกับธนาคาร เพื่อนำเงินมาลงทุนในธุรกิจ หรือการทำข้อตกลงกับบริษัท เพื่อขายผลผลิตให้
ในประเทศไทย มีหน่วยงานจำนวนมาก โดยเฉพาะหน่วยงานราชการ ที่ส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ แต่หน่วยงานประสานงานหลักเกี่ยวกับการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ คือ มูลนิธิชัยพัฒนา