แนวทางสำคัญของการป้องกันกำจัดศัตรูพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ก็คือ การเสริมสร้างความแข็งแรงของพืช เพื่อให้พืชสามารถพัฒนาความต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช รวมทั้งทำให้พืชสามารถแข่งขันกับวัชพืชได้ดีขึ้น ดังนั้นเกษตรอินทรีย์จึงให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงบำรุงดินและการปรับสภาพแวดล้อมของระบบนิเวศในฟาร์มเป็นหลัก เมื่อฟาร์มได้รับการปรับปรุงให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์และสภาพแวดล้อมที่ดี ระบบนิเวศฟาร์มก็จะได้สมดุล การรบกวนจากศัตรูพืชก็จะน้อย
ในทางกลับกัน การระบาดของศัตรูพืชไม่ว่าจะเป็นโรค, แมลง หรือวัชพืชนั้นแสดงให้เห็นถึงความไม่สมดุลของระบบนิเวศฟาร์ม เกษตรกรอาจจะจำเป็นต้องดำเนินทั้งมาตรการระยะสั้นในการจัดการศัตรูพืชเฉพาะหน้า และมาตรการระยะยาวในการฟื้นฟูความสมดุลของระบบนิเวศฟาร์ม แต่เกษตรกรส่วนใหญ่มักจะให้ความสนใจเฉพาะแต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยวิธีการหาสมุนไพรหรือสารที่จะมาทดแทนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ที่จริงแล้วเกษตรอินทรีย์ไม่สนับสนุนการใช้สารสมุนไพรเป็นหลักในการจัดการศัตรูพืช เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และยังปฏิเสธการใช้สมุนไพรบางประเภทที่มีผลในการทำลายสิ่งมีชีวิตไม่เลือกชนิด เช่น ยาสูบ เพราะมีผลต่อพลวัตของประชากรศัตรูพืชและศัตรูธรรมชาติ (หรือแม้แต่จุลินทรีย์ที่อยู่ใต้ดิน) ทำให้กลไกธรรมชาติหยุดชะงักหรือเสียสมดุลได้เช่นเดียวกันกับการใช้สารเคมีสังเคราะห์ในการกำจัดศัตรูพืช
จะเห็นว่าเกษตรอินทรีย์เน้นที่แนวทางการป้องกันศัตรูพืชมากกว่าการกำจัดศัตรูพืช แต่การที่จะสามารถจัดการศัตรูพืชได้สำเร็จและมีประสิทธิภาพ เกษตรกรจำเป็นต้องพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศการเกษตรและสภาพแวดล้อมท้องถิ่นที่ฟาร์มตั้งอยู่ เพราะปัจจัยเรื่องนิเวศและสภาพแวดล้อมมีผลโดยตรงต่อชนิด ปริมาณ และช่วงเวลาของการระบาดของศัตรูพืช นอกจากนี้การทำความเข้าใจถึงลักษณะเด่นและลักษณะด้อยของพันธุ์พืชที่ปลูกก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการวางแผนการจัดการศัตรูพืช และสุดท้าย เกษตรกรต้องเรียนรู้เกี่ยวกับศัตรูพืช ทั้งในแง่ของลักษณะนิสัย, วงจรชีวิต, การขยายพันธุ์, พืชที่เป็นแหล่งพักพิง รวมทั้งศัตรูธรรมชาติของศัตรูพืชนั้น แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับความรู้เหล่านี้ส่วนหนึ่งได้มาจากการสังเกตสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นของเกษตรกรเอง ซึ่งได้สั่งสมเป็นองค์ความรู้ท้องถิ่นและภูมิปัญญาพื้นบ้าน แต่ในขณะเดียวกันองค์ความรู้เชิงวิชาการสมัยใหม่ที่รวบรวมไว้ในสถาบันวิชาการก็เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่เกษตรกรควรศึกษาและนำมาประยุกต์ปรับใช้ในการวางแผนจัดการศัตรูพืช
โดยรวมแล้ว แนวทางหลักในการจัดการศัตรูพืชของระบบเกษตรอินทรีย์มีอยู่ 4 แนวทาง คือ พันธุ์พืช, การเขตกรรม, การจัดการศัตรูพืชช, การจัดการวัชพืช
พันธุ์พืช
การเลือกพันธุ์พืชที่ต้านทานต่อโรคและแมลงเป็นวิธีการพื้นฐานเบื้องต้นที่เกษตรกรทั่วไปได้ถือปฏิบัติกันมาช้านาน ทั้งนี้เพราะพืชแต่ละพันธุ์จะมีความอ่อนแอหรือความต้านทานต่อศัตรูพืชที่แตกต่างกัน เกษตรกรอาจเลือกปลูกพันธุ์พืชที่มีความต้านทานต่อโรคและแมลงซึ่งมีแนวโน้มที่จะระบาดในพื้นที่และช่วงเวลานั้นๆ หรือเลือกปลูกต้นตอไม้ยืนต้นที่มีความต้านทานศัตรูพืชและมีระบบรากที่ดี แล้วต่อยอดด้วยพันธุ์พืชที่มีคุณภาพ หรือเลือกพันธุ์พืชที่ปลอดจากโรคและแมลงสำหรับใช้ในการเพาะปลูก รวมทั้งการปลูกพืชหลายพันธุ์รวมกัน เพื่อกระจายความเสี่ยงของการระบาดของโรคและแมลง
< กลับไปด้านบน > การเขตกรรม
การเขตกรรมเป็นแนวทางสำคัญในการป้องกันศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพ เพราะเป็นการจัดการระบบการเพาะปลูกที่สร้างเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช โดยอาจเป็นการจัดการระบบการเพาะปลูกทั้งในเชิงของพื้นที่หรือเวลา ที่มีเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของศัตรูพืช-ศัตรูธรรมชาติ, ปรับเปลี่ยนร่มเงาและสภาพภูมิอากาศย่อยในระดับฟาร์มหรือปรับเปลี่ยนเงื่อนไขของการระบาดของโรคและแมลง แนวทางของการเขตกรรมที่ดีอาจเป็นการปลูกพืชที่หลากหลาย, การปลูกพืชหมุนเวียน, การปลูกพืชร่วม, การปลูกพืชในเวลาที่เหมาะสม และการปลูกพืชไล่และล่อแมลง เป็นต้น
การเขตกรรมเหล่านี้ช่วยป้องกันการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชได้ เพราะศัตรูพืชเกือบทุกชนิด มีความเฉพาะในการเลือกพืชเป็นอาหารหรือที่อยู่อาศัย ดังนั้นการปลูกพืชต่างชนิดพร้อมกันหรือต่างเวลากันจะทำให้ศัตรูพืชขาดแคลนแหล่งอาหารหรือแหล่งพักอาศัยและขยายพันธุ์ ทำให้วงจรชีวิตของศัตรูพืชชะงักลง รวมทั้งเป็นการสร้างเงื่อนไขปัจจัยและสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการขยายพันธุ์ของตัวห้ำตัวเบียนเช่น แมงมุม เต่าทอง ด้วงดิน ฯลฯ ซึ่งเป็นศัตรูธรรมชาติช่วยทำหน้าที่ในการควบคุมศัตรูพืช นอกจากนี้การเขตกรรมยังมีผลต่อการช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูดิน และช่วยลดความเสี่ยงในการผลิตของเกษตรกรอีกด้วย ในที่นี้จะขอกล่าวถึงแนวทางเขตกรรมที่สำคัญ 2 แนวทาง
(ก) การปลูกพืชร่วม การปลูกพืชร่วมเป็นการปรับเปลี่ยนระบบนิเวศการเกษตร เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมของฟาร์มที่แตกต่างไป ซึ่งการปลูกพืชร่วมอาจมีเป้าหมายด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้านร่วมกัน เช่น • สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการขยายพันธุ์ศัตรูธรรมชาติของศัตรูพืช • สร้างแนวพืชป้องกัน ซึ่งอาจเป็นพืชที่ขับไล่ศัตรูพืช หรือเป็นกับดักให้แมลงศัตรูพืชมาอยู่อาศัย เพื่อที่จะได้ไม่ไประบาดในแปลงพืชหลัก • สร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช การปลูกพืชร่วมเพื่อกระตุ้นหรือสนับสนุนศัตรูธรรมชาตินั้น เกษตรกรจะต้องรู้จักเงื่อนไขข้อจำกัดของศัตรูธรรมชาติ และจัดปรับสภาพแวดล้อมของฟาร์มเพื่อช่วยให้ศัตรูธรรมชาติมีแหล่งอาหารหรือมีที่อยู่อาศัยและที่ขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ศัตรูธรรมชาติหลายชนิดกินเกสรดอกไม้เป็นอาหาร ดังนั้น
การปลูกพืชร่วมที่เป็นไม้ดอกที่ให้เกสรหรือน้ำหวานที่ศัตรูธรรมชาติต้องการ ย่อมจะช่วยให้ศัตรูธรรมชาติสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างต่อเนื่อง หรือการปลูกพืชระดับเตี้ยคลุมดินจะช่วยเพิ่มแหล่งที่พักอาศัยให้กับแมงมุม ซึ่งจะช่วยจับแมลงศัตรูกินเป็นอาหาร หรืออนุรักษ์ฟื้นฟูพืชพรรณท้องถิ่นให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติในแปลงเกษตรซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มความหลากหลายของระบบนิเวศที่ส่งผลดีต่อศัตรูธรรมชาติได้ด้วย
ส่วนการปลูกพืชเป็นแนวป้องกันนั้น เกษตรกรอาจเลือกแนวทางการปลูกพืชกับดักซึ่งเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่เป็นแหล่งอาหารที่ชื่นชอบของแมลงศัตรูพืช เมื่อศัตรูพืชมารวมกันในแปลงปลูกพืชกับดักแล้ว เกษตรกรอาจเลือกที่จะจัดการทำลายแมลงศัตรูพืชเหล่านั้น หรือไม่ต้องจัดการแต่ปล่อยให้กลไกธรรมชาติควบคุมประชากรศัตรูพืชเหล่านั้นแทน วิธีการนี้เกษตรกรจะต้องจัดสรรที่ดินส่วนหนึ่งสำหรับปลูกพืชกับดัก จึงต้องลดพื้นที่ในการปลูกพืชหลักลง แต่ในขณะเดียวกันการลดการระบาดของศัตรูพืชในแปลงปลูกพืชหลัก อาจจะช่วยเพิ่มผลผลิตของพืชหลักโดยรวมได้มากขึ้นกว่าการไม่มีแปลงปลูกพืชกับดัก
อีกแนวทางหนึ่งคือการปลูกพืชเป็นกำแพง ซึ่งพืชที่ปลูกอาจทำหน้าที่ในการกั้นแมลงศัตรูพืชไม่ให้สามารถเข้ามาระบาดหรือเกิดความสับสนในการเสาะหาพืชหลัก ทำให้เงื่อนไขของการระบาดของแมลงศัตรูพืชลดลง หรือเกษตรกรอาจเลือกที่จะปลูกพืชที่ผลิตสารที่แมลงศัตรูพืชไม่ชอบ (สารขับไล่แมลง) เช่น ตะไคร้หอม, ดาวเรือง, พริก, กระเทียม ฯลฯ ก็สามารถช่วยลดการระบาดของแมลงศัตรูพืชได้เช่นกัน
การเขตกรรมโดยการปลูกพืชร่วมต้องมีการวางแผนล่วงหน้า และเกษตรกรต้องเข้าใจเงื่อนไขของฟาร์ม ตลอดจนลักษณะนิสัยของศัตรูพืชและศัตรูธรรมชาติ เพราะการเลือกพืชร่วมที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้โรคและแมลงศัตรูพืชระบาดมากขึ้น หรือไม่ได้ช่วยสนับสนุนศัตรูธรรมชาติที่จะมาช่วยควบคุมศัตรูพืชให้กับพืชหลัก
(ข) การปลูกพืชหมุนเวียน หลักการสำคัญในการปลูกพืชหมุนเวียนคือ การเลือกปลูกพืชที่ไม่ใช่พืชพาหะหรือพืชที่เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่เป็นศัตรูของพืชหลัก การปลูกพืชหมุนเวียนในลักษณะนี้จะทำให้ประชากรของศัตรูพืชลดลง เพราะขาดแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัย เมื่อเกษตรกรปลูกพืชหลักในฤดูการเพาะปลูกถัดไป โรคและแมลงศัตรูพืชก็จะลดลง ดังนั้นการปลูกพืชหมุนเวียนจึงเป็นการป้องกันศัตรูที่ง่ายและมีประสิทธิภาพสูง
นอกจากหลักเกณฑ์การเลือกพันธุ์พืชหมุนเวียนที่ไม่ใช่พืชพาหะหรือพืชที่เป็นที่พักพิงของศัตรูพืชหลักแล้ว เกษตรกรควรพิจารณาถึงการเลือกชนิดพืชที่ใช้ธาตุอาหารแตกต่างไปจากพืชหลัก (เพื่อลดการแข่งขันกันในการหาธาตุอาหาร), พืชที่มีระบบใบกว้างหรือเจริญเติบโตได้เร็ว (เพื่อควบคุมวัชพืช และเพิ่มอินทรีย์วัตถุให้กับดิน เมื่อไถกลบ) และพืชที่มีความสามารถในด้านการตรึงไนโตรเจนจากอากาศ (เพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดิน)
< กลับไปด้านบน > การจัดการศัตรูพืช
แม้ว่าจะมีการป้องกันที่ดีเพียงใด แต่การเพาะปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ก็อาจมีปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชระบาดได้เช่นกัน เพราะสมดุลของนิเวศฟาร์มอาจสูญเสียไปด้วยเหตุบางประการ ดังนั้นเกษตรกรจะต้องหมั่นสำรวจและสังเกตการเปลี่ยนแปลงของประชากรศัตรูพืชและศัตรูธรรมชาติว่าอยู่ในภาวะสมดุลหรือไม่ ซึ่งในระบบนิเวศการเกษตรที่สมดุลจะมีทั้งแมลงศัตรูพืชและศัตรูธรรมชาติอยู่ จากนั้นเกษตรกรจะต้องประเมินว่าระบบนิเวศฟาร์มยังคงมีสมดุลของประชากรศัตรูพืชและศัตรูธรรมชาติอยู่หรือไม่ ในกรณีที่ระบบนิเวศยังสมดุล เกษตรกรไม่ควรดำเนินการใดๆ ทั้งนี้เพราะความพยายามกำจัดศัตรูพืชในขณะที่นิเวศการเกษตรมีความสมดุลอยู่แล้ว อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสมดุล (เสียสมดุล) ในทิศทางที่ทำให้ประชากรของศัตรูพืชระบาดเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในแปลงนาข้าวที่มีเพลี้ยกระโดดอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันก็มีแมงมุมและด้วงดิน ซึ่งเป็นตัวห้ำของเพลี้ยกระโดดอยู่แล้ว ความพยายามใช้สมุนไพรกำจัดเพลี้ยกระโดด (เช่น การฉีดสารสกัดหางไหลหรือใช้ยาสูบ) อาจทำให้แมงมุมและด้วงดินตายในสัดส่วนมากกว่าเพลี้ยกระโดด ซึ่งการเสียสมดุลนี้จะทำให้เพลี้ยกระโดดกลับขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ความพยายามในการกำจัดศัตรูพืชอาจเพิ่มต้นทุนการผลิตโดยไม่จำเป็น ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงขณะที่ข้าวกำลังเริ่มแตกกอ ถ้ามีการระบาดของหนอนกระทู้ ซึ่งทำลายใบข้าวไม่เกิน 50% ในกรณีนี้ เกษตรกรยังไม่จำเป็นต้องกำจัดหนอนกระทู้ เพราะต้นข้าวสามารถแตกกอและใบข้าวออกมาทดแทนใบที่ถูกทำลายได้ โดยผลผลิตข้าวจะไม่ลดลงเนื่องจากใบข้าวถูกทำลายลง (หากไม่เกิน 50%) การพยายามกำจัดหนอนกระทู้ในกรณีนี้จึงอาจจะเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตโดยไม่จำเป็น และอาจสร้างผลกระทบต่อสมดุลนิเวศการเกษตรดังกรณีข้างต้นอีกด้วยก็เป็นได้
แต่อาจด้วยเหตุปัจจัยใดก็ตามที่ทำให้กลไกธรรมชาติในการจัดการศัตรูพืชไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกษตรกรก็อาจจะต้องแทรกแซงกลไกธรรมชาติดำเนินการจัดการกำจัดศัตรูพืชด้วยตนเอง ซึ่งแนวทางและวิธีการที่เหมาะสมในการกำจัดศัตรูพืชในระบบเกษตรยั่งยืนคือ
• การกำจัดด้วยวิธีกล (กับดักกาวเหนียว, กับดักน้ำ และกับดักกรงขัง) โดยอาจล่อด้วยสิ่งต่างๆ รวมทั้งแสงไฟ หรือการใช้พืชสมุนไพรเป็นตัวล่อก็ได้
• การกำจัดด้วยวิธีชีวภาพ เช่น การใช้สมุนไพร, การเลี้ยงขยายพันธุ์ศัตรูธรรมชาติ และการใช้สารธรรมชาติอื่นๆ
ทางกรีนเนท-มูลนิธิสายใยแผ่นดินได้รวบรวมรายชื่อปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่อนุญาตให้ใช้ในระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม พีจีเอส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์โดยระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม” สนับสนุนโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations – FAO)
ในแต่ละระบบมาตรฐาน (เช่น IFOAM, สหภาพยุโรป, แคนาดา, สหรัฐอเมริกา, ฯลฯ) มีข้อกำหนดที่แตกต่างกันเกี่ยวกับปัจจัยการผลิตแต่ละอย่าง สารบางอย่างอาจอนุญาตให้ใช้ในระบบมาตรฐานบางระบบ แต่ไม่อนุญาตให้ใช้ในอีกบางระบบ ทะเบียนรายชื่อนี้เป็นเพียงข้อเสนอแนะของมูลนิธิสายใยแผ่นดิน-กรีนเนทเท่านั้น โดยใช้หลักเกณฑ์ดังนี้
(ก) อนุญาตให้ใช้ในระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์มาตรฐานใดมาตรฐานหนึ่ง
(ข) หาได้ง่ายในท้องถิ่น (อาจซื้อได้จากร้านเคมีภัณฑ์ หรือร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตการเกษตร)
ไปดูเว็บได้ที่ link
< กลับไปด้านบน > การจัดการวัชพืช
เช่นเดียวกันกับการจัดการโรคและแมลงศัตรูพืช แนวทางการจัดการวัชพืชที่ดีคือ การป้องกันวัชพืช ไม่ใช่การกำจัดวัชพืชด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งการป้องกันวัชพืชนั้นต้องให้ความสำคัญกับการจัดระบบการปลูกพืชที่ส่งเสริมให้พืชเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์แข็งแรง อันจะทำให้พืชหลักที่ปลูกสามารถแข่งขันกับวัชพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ แนวทางจัดการวัชพืชประกอบด้วย 4 แนวทางสำคัญคือ
(ก) การแข่งขัน ปัญหาหลักสำคัญของวัชพืชในฟาร์มก็คือ การแย่งน้ำและอาหารจากพืชหลัก ดังนั้นแนวทางหลักที่เกษตรกรดำเนินการเป็นสิ่งแรกก็คือ การสร้างเงื่อนไขให้พืชหลักสามารถเจริญเติบโตได้เร็วกว่าวัชพืช อันจะทำให้วัชพืชไม่สามารถแย่งน้ำและอาหารจากพืชหลักได้ และกำจัดหรือลดเงื่อนไขปัจจัยที่ทำให้วัชพืชเจริญเติบโตได้ดี โดยทั่วไปวัชพืชจะเจริญเติบโตได้ดีในที่ดินที่มีปัญหาในการปลูกพืช เช่น ดินที่มีธาตุอาหารต่ำ, ดินอัดแน่น หรือดินที่ระบายน้ำไม่ดี ดังนั้นการปรับปรุงดินให้มีธาตุอาหารครบถ้วนสมดุลและมีโครงสร้างทางกายภาพที่ดีด้วยอินทรีย์วัตถุและปุ๋ยอินทรีย์ประเภทต่างๆ จึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง นอกจากนี้ การคัดเลือกพันธุ์พืชปลูกที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในเงื่อนไขของสภาพแวดล้อมท้องถิ่น รวมทั้งการปลูกพืชหลักให้เร็วขึ้นในช่วงต้นฤดูเพาะปลูก จะช่วยทำให้พืชหลักสามารถเจริญเติบโตและตั้งตัวได้เร็วกว่าวัชพืช จึงสามารถแข่งขันกับวัชพืชได้
(ข) การจัดการธาตุอาหาร พืชแต่ละชนิดต้องการธาตุอาหารในปริมาณ สัดส่วน และช่วงเวลาที่แน่นอน การให้ธาตุอาหารพืชบางชนิดมากเกินไป หรือในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม ย่อมทำให้เกิดปัญหามีธาตุอาหารเหลือตกค้าง อันจะทำให้วัชพืชสามารถเจริญเติบโตและขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม ดินที่มีธาตุอาหารต่ำมาก วัชพืชกลับมีความสามารถในการแย่งธาตุอาหารจากดินได้ดีกว่าพืชที่ปลูก ดังนั้นการบริหารจัดการธาตุอาหารอย่างเหมาะสมจึงเป็นการป้องการวัชพืชที่สำคัญอีกแนวทางหนึ่ง
(ค) การเขตกรรม การเขตกรรมเป็นอีกวิธีหนึ่งในการป้องกันและกำจัดวัชพืช การเตรียมดินด้วยการไถพรวนและการไถกลบก่อนการปลูกพืชที่ถูกต้องช่วยลดปริมาณวัชพืชในฟาร์มได้ในช่วงเริ่มต้นของฤดูเพาะปลูก, การหยอดเมล็ดในระดับความลึกที่เหมาะสม ช่วยทำให้ต้นกล้าพืชเจริญเติบโตได้เร็ว สามารถแข่งขันกับวัชพืชได้, การคลุมดินด้วยอินทรีย์วัตถุต่างๆ หรือการปลูกพืชคลุมดิน ช่วยลดปริมาณวัชพืชในช่วงระหว่างฤดูเพาะปลูก และการจัดการกับเศษซากวัชพืชอย่างถูกต้อง เช่น นำมารวมกันเพื่อใช้ทำปุ๋ยหมัก จะช่วยลดการแพร่ระบาดของวัชพืชลงได้
(ง) การเรียนรู้ที่จะยอมรับต่อวัชพืชในแปลง เช่นเดียวกับโรคและแมลงศัตรูพืช การมีวัชพืชในแปลงปลูกไม่ได้เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงปัญหาวัชพืชเสมอไป ตราบใดที่วัชพืชมีปริมาณไม่มากและไม่ได้มีผลกระทบต่อพืชที่ปลูกอย่างมีนัยทางเศรษฐกิจ หรือมีผลระยะยาวต่อการปลูกพืชในรุ่นถัดไป การเรียนรู้ที่จะยอมรับต่อวัชพืชในแปลงเป็นแนวทางหนึ่งของการทำเกษตรอินทรีย์ เพราะวัชพืชเหล่านี้มีส่วนในการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพในฟาร์ม อาจเป็นที่อยู่อาศัยของศัตรูธรรมชาติ, อาจเป็นพืชสมุนไพร, อาจเป็นอาหารให้กับเกษตรกร, อาจเป็นอาหารสัตว์ หรือมีประโยชน์อื่นๆ อีกมากมายในระบบนิเวศธรรมชาติ