โรคโคนเน่า (ต้นกล้า)
อาการ
เป็นได้ตั้งแต่ทำให้เมล็ดไม่งอก หรือเมล็ดงอกเป็นต้นอ่อนแล้วตาย หรือชะงักการเจริญเติบโต สังเกตได้จากแผลที่โคนต้นบริเวณที่ติดกับผิวดิน ที่ทำให้ต้นคอดลง/แห้ง ต้นล้ม ไม่ตั้งขึ้น
ชื่ออื่น โรคเน่าคอดิน โรครากเน่าโคนเน่า กล้าตายพราย
สาเหตุ
เชื้อราในดิน ซึ่งมีหลายชนิดที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้ ซึ่งเชื้อรานี้มาได้จาก (1) ติดมากับเมล็ด (2) ในดินและวัสุดปลูก (3) ในน้ำที่ใช้รด (4) จากถาดที่ใช้เพาะกล้า
สภาพแวดล้อมที่ทำให้เชื้อรานี้ระบาดได้ง่ายคือ เมื่อมีอากาศร้อนและมีความชื้นสูง ดิน/วัสดุเพาะระบายน้ำไม่ดี และมีสภาพเป็นกรดมากเกินไป
วิธีป้องกัน
- เลือกใช้ดิน/วัสดุปลูกที่ค่อนข้างสะอาด ระบายน้ำได้ดี
- เพิ่มสัดส่วนของปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยมูลไส้เดือนในวัสดุเพาะ เพื่อเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์
- ทำความสะอาดถาดเพาะด้วยด่างทับทิม (อัตราส่วน 1 กรัม/น้ำ 1 ลิตร ใช้แช่ทิ้งไว้ 2 – 3 ชั่วโมง) โดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหาโรคโคนเน่าแล้ว ถาดเพาะมีโอกาสที่จะมีเชื้อติดอยู่มาก
- ถ้าเมล็ดมีความเสี่ยงติดเชื้อรา อาจทำความสะอาดเมล็ดก่อนเพาะด้วยจุนสี (อัตราส่วน 1 กรัม/น้ำ 1 ลิตร ใช้แช่ทิ้งไว้ 2 – 3 ชั่วโมง แล้วล้างออกก่อนนำไปเพาะ)
- ใช้เชื้อไตรโคเดอร์มาผสมกับดินปลูก คลุกเมล็ด หรือผสมกับน้ำที่ใช้รดกล้าผัก
- เวลาเพาะกล้า อย่าใส่เมล็ดในวัสดุเพาะลึกเกินไป
- อย่าเพาะกล้าหนาแน่นเกินไป เลือบริเวณเพาะกล้าที่มีสภาพอากาศโปร่ง อากาศระบายได้ดี ไม่มีความชื้นสูง และระวังอย่ารดน้ำมากเกินไป โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน
- เลือกแหล่งน้ำที่สะอาดหน่อยสำหรับใช้ในการรดกล้าผัก
- ในกรณีที่แปลง/ถาดเพาะเริ่มระบาด ให้รีบนำถาดที่มีโรคออก เพื่อทำลายทิ้ง และฉีดพ่นแปลง/ถาดเพาะข้างเคียงน้ำด้วยน้ำกระเทียมสะกัด (ต้มน้ำให้ร้อน แต่ไม่ถึงน้ำเดือด ใส่กระเทียมโขลก 5 – 6 กลีบ นาน 20 นาที ปล่อยให้น้ำเย็น เอากากกระเทียมออก เติมสบู่ธรรมชาติเล็กน้อย กรอง แล้วจึงนำไปฉีดพ่น)