ความเป็นกรด-ด่างของดินเป็นคุณสมบัติทางเคมีประการหนึ่งของดิน ในประเทศไทย และประเทศเขตร้อนทั้งหมด ดินในภาคการเกษตรมักจะมีสภาพเป็นกรด จะมากหรือน้อยต่างกัน มีเพียงประเทศในเขตแห้งแล้งที่ดินอาจมีสภาพเป็นด่าง
หลายคนมักจะเข้าใจผิดว่า ดินเป็นกรดเป็นดินที่ไม่เหมาะกับการเกษตร ที่จริงแล้ว ดินที่เหมาะสมกับภาคการเกษตรควรมีสภาพความเป็นกรดเล็กน้อย แต่ไม่ควรต่ำกว่าระดับ 5.5 เพราะความเป็นกรดที่ต่ำกว่านี้ จะมีผลต่อธาตุอาหารพืช (ธาตุอาหารบางอย่างจะมีน้อย ทำให้พืชขาดธาตุอาหารนั้น หรือธาตุอาหารบางอย่างมีมากเกินไป จนเกิดเป็นพิษกับพืช) ความเป็นกรดด่างของดินนี้จะสำคัญมากสำหรับดินชั้นบน (ความลึกไม่เกิน 30 เซนติเมตรจากผิวดิน)
ดินในบางพื้นที่มีสภาพความเป็นกรดสูง (ในประเทศไทย พบดินเป็นกรดจัดประมาณ 3.5 ล้านไร่ โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง ไดแก ดินชุดอยุธยา มหาโพธิ์ อยุธยา/มหาโพธิ์ เสนา บางนํ้าเปรี้ยว ฉะเชิงเทรา และทาขวาง)
มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ดินมีสภาพเป็นกรดจัด เช่น
1) ดินชั้นล่าง ซึ่งเป็นหิน/ดินตะกอนที่มีส่วนประกอบของอินทรียวัตถุ ซึ่งมีแร่เหล็กซัลไฟด์ (iron sulfide) ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบต่างๆ เช่น Greigite, Pyrrhotite, Troilite, Mackinawite, Marcasite, และ Pyrite ซึ่งมีส่วนประกอบของกำมะถัน เมื่อน้ำที่ขังถูกระบายออก หรือระดับน้ำใต้ดินลดลง ก็จะทำให้กำมะถันทำปฏิกริยากับออกซิเจน กลายเป็นกรดซัลฟูริค (กรดกำมะถัน)
2) การใช้ปุ๋ยเคมี (แอมโนเมียมไนเตรท ยูเรีย) ซึ่งทำให้เกิดไอไอนไฮโดรเจนมากขึ้น
3) การนำซากพืชออกจากดิน (ซากพืชเป็นด่าง)
4) ไนเตรทส่วนเกินในดินถูกชะล้าง เมื่อไนเตรทไหลลงดินชั้นล่าง ทำให้ดินชั้นบนเป็นกรดมากขึ้น
5) เมื่อมีฝนตกเป็นปริมาณมาก
* เพิ่มไอออนอะลูมิเนียม (Al3+) และไอออนไฮโดรเจน (H+) ซึ่งไอออนอะลูมิเนียมจะเร่งการเพิ่มไอออนไฮโดรเจน (ความเป็นกรดคือมีไอออนไฮโดรเจนมาก)
* ชะล้างแคลเซียมทำให้ดินเป็นกรดเพิ่มขึ้น
* น้ำฝนเองก็เป็นกรดเล็กน้อยด้วย (ฝนละลายคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ เกิดเป็นกรดคาร์บอนิค) หรือ
* ในกรณีของฝนกรด ที่เกิดจากควันจากโรงงานอุตสาหกรรม
6) การย่อยสลายอินทรียวัตถุโดยจุลินทรีย์ ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ซึ่งอาจละลายในน้ำในดิน เกิดเป็นกรดคาร์บอนิคได้เช่นกัน
ุ
ผลกระทบของการที่ดินเป็นกรดจัด
1) ธาตุบางอย่างจะละลายน้ำในดิน (ที่มีสภาพเป็นกรด) ได้ดีขึ้น ทำให้พืชดูดธาตุนี้เข้าไปในราก-ต้น จนทำให้เกิดเป็นพิษต่อพืช โดยเฉพาะ
* อลูมิเนียม จะทำให้รากพืชถูกทำลาย/ไม่เจริญเติบโต
* แมงกานีส ใบมีจุดสีเหลือง-น้ำตาล
2) ในขณะเดียวกัน ทำให้ธาตุอาหารบางอย่างละลายน้ำในดินได้น้อยลงหรือถูกชะล้างไป เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแตสเซียม แมกนีเซียม (ดูแผนภูมิด้านล่าง)
3) จุลินทรีย์ดินที่ชอบ/ทนสภาพความเป็นกรดจะเพิ่มจำนวน จุลินทรีย์ที่ไม่ทนกรด (ไรโซเบียม ที่ตรึงไนโตรเจน โดยเกิดเป็นปมที่รากของพืชตระกูลถั่ว) จะลดจำนวน-ตาย
แนวทางการจัดการดินที่เป็นกรด ควรจะใช้หลายมาตรการประกอบกัน คือ
(ก) ลดการใช้ปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจน
(ข) ใช้ปูนขาว โดโลไมท์ เปลือกหอย ขี้เถ้า เพื่อลดความเป็นกรดในดิน
(ค) ในกรณีที่มีน้ำเพียงพอ ควรระบายน้ำที่มีความเป็นกรดสูงออกจากแปลง แล้วขังน้ำใหม่ ที่มีสภาพความเป็นกรดน้อยกว่าแทน