เกษตรอินทรีย์ไทย

1) มาตรฐานบังคับคืออะไร

กฏระเบียบ
มกอช. มีอำนาจ (ตาม พรบ. มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551) ในการออกมาตรฐานสำหรับสินค้าเกษตรและอาหาร โดยอาจทำเป็นมาตรฐานทั่วไปหรือมาตรฐานบังคับ ซึ่งความแตกต่างระหว่างมาตรฐาน 2 ประเภทนี้ ก็คือ วัตถุประสงค์ในการใช้  โดยหลักแล้ววัตถุรประสงค์ในการกำหนดมาตรฐานทั่วไปก็คือ เพื่อ “ส่งเสริมสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน” ในขณะที่มาตรฐานบังคับนี้สำหรับเพื่อคุ้มครองสุขอนามัยและความปลอดภัยของผู้บริโภค

เมื่อประกาศเป็นมาตรฐานบังคับ ผู้ผลิต (รวมเกษตรกร) ผู้ส่งออก และผู้นำเข้า จะต้อง
ก) ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดขึ้นโดย มกอช.
ข) ขอใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก และผู้นำเข้า กับ มกอช.
ค) ใช้ฉลากตามระเบียบที่กำหนดไว้

ตามระเบียบของ มกอช. กำหนดให้สินค้าที่มีมาตรฐานบังคับ ต้องใช้ตรารับรองที่เป็นรูป Q ที่อยู่ในกรอบหกเหลี่ยม (ในกรณีมาตรฐานทั่วไป ใช้ตรา Q โดยไม่มีกรอบหกเหลี่ยม)

ความเป็นจริงสำหรับมาตรฐานบังคับ “เกษตรอินทรีย์”
มกอช. ได้จัดทำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ครั้งแรกในปี 2546 และได้ปรับปรุงครั้งแรกในปี 2555 ซึ่งครอบคลุมเรื่องพืช ปศุสัตว์ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ข้าว และแปรรูป ซึ่งได้รับการอนุมัติเป็นมาตรฐานของกระทรวงเกษตร (มกษ.) ในฐานะมาตรฐานทั่ว
มกอช. มีแผนที่จะออกมาตรฐานใหม่ ที่เป็นมาตรฐานบังคับสำหรับ “การแสดงฉลากและการกล่าวอ้างว่าเป็นสินค้าเกษตรเกษตรอินทรีย์” ซึ่งหมายความว่า ผู้ผลิตและผู้ประกอบการที่แสดงฉลากและกล่าวอ้างถึงสินค้าว่าเป็น “เกษตรอินทรีย์” จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับใหม่นี้ [1]

จากการประชุมเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2557 มีแนวโน้มว่า ระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ที่มาตรฐานบังคับน่าจะยอมรับ คือ ระบบการตรวจรับรองตามมาตรฐานของกระทรวงเกษตร มกษ. (คือ ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองและใช้ตรารับรอง Organic Thailand แล้ว) และอาจรวมถึงระบบมาตรฐาน IFOAM, สหภาพยุโรป, สหรัฐอเมริกา, แคนาดา และญี่ปุ่น
ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า ที่กล่าวอ้าง/แสดงฉลากสินค้าว่าเป็น “เกษตรอินทรีย์ อินทรีย์ organic” และคำอื่นๆ ที่ระบุว่าในมาตรฐานบังคับ [2] จะต้องขอขึ้นทะเบียนกับ มกอช. โดยใน พรบ. กำหนดให้ขึ้นใบทะเบียนมีอายุ 3 ปี และมีค่าธรรมเนียม 10,000 บาท/ใบ [3]

ล่าสุด: ร่างข้อกำหนดของ มกอช. กำหนดยอมรับเฉพาะมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของ Codex, IFOAM, และ ASEAN ซึ่งในทางปฏิบัติ ไม่มีการนำมาตรฐาน Codex ไปใช้ในการตรวจรับรอง จึงไม่สามารถนำมาตรฐานนี้ไปใช้ได้  ส่วนมาตรฐาน ASEAN ก็ยังไม่ได้มีระบบในการประเมินความเท่าเทียมของมาตรฐาน จึงยังไม่สามารถใช้ได้เช่นกัน  คงเหลือแต่เพียงมาตรฐาน IFOAM เท่านั้น ที่มีการนำไปใช้ในการตรวจรับรองจริง

2) กระบวนการประกาศมาตรฐานบังคับ

กฎระเบียบ
คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร มกอช. แต่งตั้งกรรมการวิชาการ เพื่อจัดทำร่าง (ร่างแล้วเสร็จเมื่อกลางเดือนกรกฏาคม 2559 ดูร่างมาตรฐานนี้ได้ที่ link) ซึ่งหนึ่งในขั้นตอนของการจัดทำร่างก็คือ การระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (เตรียมการจัดในเดือนสิงหาคม ที่กรุงเทพและขอนแก่น)

เมื่อคณะกรรมการ มกอช. พิจารณาร่างมาตรฐาน และกำหนดว่า เป็นมาตรฐานบังคับ หรือมาตรฐานทั่วไป ก่อนเสนอให้รัฐมนตรีพิจารณาออกกฎกระทรวง และก่อนออกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานบังคับ มกอช. จะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของตัวแทนของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
แล้งจึงนำเสนอความเห็นนั้นให้คณะกรรมการพิจารณา ก่อนเสนอต่อรัฐมนตรี

ข้อเท็จจริง
2 พฤษภาคม 2556 คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้จัดทำมาตรฐานบังคับเรื่องข้าวอินทรีย์
6 มิถุนายน 2556 มกอช. ได้เชิญตัวแทนจากหน่วยงานบางส่วน (กลุ่มย่อย) เพื่อหารือแนวทางการกำหนดมาตรฐานข้าวอินทรีย์เป็นมาตรฐานบังคับ รวมทั้งได้มอบหมายให้มูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย ทำการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการบังคับใช้มาตรฐาน
13 กันยายน 2556 มูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย ได้จัดเสวนากลุ่มย่อยขึ้น (ครึ่งวัน) โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 30 คน ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ นักวิชาการ ที่ประชุมส่วนใหญ่แสดงความไม่เห็นด้วย
27 สิงหาคม 2557  ในการประชุมของกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรประชุม  ทาง มกอช. ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า “มกอช. ได้หารือกับกรมการข้าวและผู้ที่เกี่ยวข้อง เห็นควรในบังคับประเด็นการแสดงฉลากและการกล่าวสินค้าเกษตรอินทรีย์ สำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด รวมทั้งได้ประสานมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทยศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบการบังคับการแสดงฉลากและการกล่าวอ้างสินค้าเกษตรอินทรีย์แล้ว จากผลการศึกษาเห็นว่า การกำหนดให้เป็นมาตรฐานบังคับเป็นเรื่องมีประโยชน์ แต่ก็อาจมีผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย และผู้ที่ดำเนินการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์โดยการรับรองตัวเอง
นายปริญญา พรศิริชัยวัฒนา ผู้แทนชมรมเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการจัดทำมาตรฐานบังคับเรื่องดังล่าวว่า ขณะนี้ผู้บริโภคต้องการความมั่นใจในสินค้าเกษตรอินทรีย์มากขึ้น เนื่องจากปัจจะบันมีผู้ผลิตกล่าวอ้างว่าสินค้าของตนเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยอาจไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานและไม่ผ่านกระบวนการรับรองการผลิตเกษตรอินทรีย์…
ที่ประชุมเห็นชอบให้จัดทำมาตรฐานบังคับ เรืองการแสดงฉลากและการกล่าวอ้างสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค แต่ต้องมีการกำหนดเกณฑ์สำหรับใช้บังคับ …
มติที่ประชุม  เห็นชอบให้จัดทำมาตรฐานบังคับ … โดยรับข้อคิดเห็นจากการศึกษาโดยมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทยไปประกอบการพิจารณาเพื่อพิจารณาเกณฑ์สำหรับใช้บังคับ”

11 ธันวาคม 2557  มกอช. จัดประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับเนื้อหาของมาตรฐานบังคับเกษตรอินทรีย์ โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน ซึ่งมีตัวแทนจากผู้ประกอบการผลิต-การค้าเกษตรอินทรีย์เข้าร่วมเพียง 5-6 ท่าน (ส่วนใหญ่ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วม)
รองเลขาธิการแจ้งว่า ได้มีการแต่งตั้งกรรมการวิชาการเพื่อยกร่างมาตรฐานแล้ว โดยกรรมการมี 15 ท่าน และมีตัวแทนภาคเอกชน 3 คน คือ สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ สมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย และมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย

3) เหตุผลในการประกาศให้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์เป็นมาตรฐานบังคับ

เหตุผลที่ มกอช. ให้ในการผลักดันให้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (มกษ. 9000) เป็นมาตรฐานบังคับ คือ (ก) การคุ้มครองผู้บริโภค, (ข) การได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ, และ (ค) การได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล

(ก) การคุ้มครองผู้บริโภค: ข้อเท็จจริง

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง หลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พ.ศ. 2551 ข้อ 3.3 กำหนดให้สินค้าที่ต้องการระบุว่าเป็น “อินทรีย์” “organic” หรือ “ออร์กานิก” ต้องได้รับการตรวจรับรองตามเกณฑ์ของ IFOAM หรือ Codex หรือ มาตรฐานต่างประเทศ โดยหน่วยตรวจรับรองที่ได้รับการขึ้นทะเบียน  ดังนั้น จึงไม่ได้มีความจำเป็นแต่อย่างใดที่ มกอช. จะต้องประกาศให้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นมาตรฐานบังคับเพิ่ม

นอกจากนี้ จากการสำรวจสินค้าออร์แกนิคที่วางจำหน่ายในร้านค้าในประเทศไทย 16 ร้านค้า (มกราคม – กันยายน 2554) พบเกือบ 91% ของสินค้า (393 รายการ) ได้รับการรับรองมาตรฐาน มีเพียง 9% เท่านั้นที่มีการกล่าวอ้างว่าเป็นสินค้าออร์แกนิค โดยไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ในสินค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน เกือบ 83% จะใช้ตรารับรองมาตรฐานต่างประเทศ มีเพียง 17% ที่ใช้มาตรฐานของประเทศไทย คือ Organic Thailand และ/หรือ สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) โดยตรารับรองเกษตรอินทรีย์ที่ใช้มากที่สุด คือ ตรารับรองของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA)

ในขณะที่ ระบบการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์โดยหน่วยงานราชการ (ที่ใช้มาตรฐาน มกษ. 9000) เป็นผู้ดำเนินการกำกับควบคุมดูแลทั้งหมดแบบเบ็ดเสร็จ พบว่า “ผักและผลไม้อินทรีย์ที่ได้รับการรับรอง Organic Thailand ซึ่งไม่ควรตรวจพบการตกค้างของสารเคมีกลับพบการตกค้างสูงเกินมาตรฐานถึง 25% ของจำนวนตัวอย่าง” [4]

(ข) การได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ
เป็นที่ทราบกันดีในวงการเกษตรอินทรีย์สากลว่า การมีมาตรฐานบังคับในประเทศนั้นไม่ได้เป็นเหตุปัจจัยอะไรที่จะได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ เพราะการยอมรับผลการตรวจรับรองนั้นมีข้อกำหนดเฉพาะ ซึ่งในข้อกำหนดเหล่านั้น ไม่ได้กำหนดว่า ต้องมีมาตรฐานบังคับในประเทศ
ในประเทศออสเตรเลีย (ประเทศที่มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์มากที่สุดในโลก) หรือในประเทศอินเดีย (มีเกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์มากที่สุดในโลก) ทั้งสองประเทศนี้ ไม่ได้มีการกำหนดมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เป็นมาตรฐานบังคับ แต่ระบบการตรวจรับรองของทั้งสองประเทศได้รับการยอมรับจากสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา
ในอีกหลายประเทศที่ได้กำหนดให้มีมาตรฐานบังคับ (เช่น จีน อินโดนีเซีย) แต่ต่างประเทศก็ไม่ได้ยอมรับระบบการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ของประเทศเหล่านี้แต่อย่างใด

(ค) การได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล
ในการประชุมของคณะทำงาน มีหน่วยงานราชการหลายแห่งได้แจ้งถึงความไม่พร้อมของหน่วยงานในการรองรับการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ให้กับผู้ผลิต และมีความเป็นห่วงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการประกาศให้มาตรฐานเกษตรอินทรีเป็นมาตรฐานบังคับ แต่ก็ได้มีผู้พยายามอธิบายว่า เมื่อได้กำหนดให้การตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เป็นมาตรฐานบังคับแล้ว ทางรัฐบาลก็น่าจะให้เงินงบประมาณสำหรับการตรวจรับรองเพิ่มขึ้น  แต่ถ้ารัฐบาลไม่ได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นให้ ก็ค่อยตัดสินใจเลื่อน หรือยกเลิกการบังคับใช้มาตรฐานบังคับนี้
แนวคิดดังกล่าวนี้อาจไม่ได้ระบุไว้ในเอกสารใดๆ เพราะเป็นแนวคิด “การจับเกษตรอินทรีย์ไทยเป็นตัวประกันให้กับหน่วยราชการ” ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า ตัวแทนจากหน่วยงานราชการไทยจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับแนวคิดเช่นนี้

4) ผลกระทบต่อผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า
มูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทยได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบการบังคับการแสดงฉลากและการกล่าวอ้างสินค้าเกษตรอินทรีย์แล้ว โดยการจัดประชุมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง/มีส่วนได้เสีย 0.5 วัน (13 ก.ย. 56) โดยได้นำเสนอผลการศึกษาให้กับที่ประชุมรับทราบเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2557 แต่ไม่ได้มีการเผยแพร่รายงานศึกษาให้กับหน่วยงานภายนอก

ผลกระทบที่จะต้องพิจารณา (ที่ควรมีอยู่ในรายงาน)
(1) มีเฉพาะเกษตรกรเพียง 42.8% (พื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์ 21.36%) ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน มกษ. (ใช้ตรา Organic Thailand) เกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยที่เหลือ ได้รับการตรวจรับรองตามมาตรฐานอื่นๆ

(2) มีหน่วยตรวจรับรองเพียงหน่วยงานเดียว คือ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด ที่ปัจจุบัน (25 ก.ค. 59) ได้รับการขึ้นทะเบียนตามเกณฑ์ของ มกอช. โดยได้รับการขึ้นทะเบียนเฉพาะขอบข่ายพืช (รวมข้าว) เกษตรอินทรีย์  ซึ่งหน่วยตรวจรับรองภาครัฐได้รับการยกเว้น ไม่ต้องขอขึ้นทะเบียนกับ มกอช.

(3) ถ้า มกอช. ไม่ยอมรับการตรวจรับรองของมาตรฐานอื่น เกษตรกรที่ยังไม่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานมกษ. จะมีทางเลือก
(ก) ขอการรับรองเพิ่มเติมกับหน่วยตรวจรับรองเดิม แต่หน่วยตรวจรับรองนั้นได้รับการขึ้นทะเบียนกับ มกอช. ก่อน
(ข) เปลี่ยนหน่วยตรวจรับรองเป็นหน่วยตรวจรับรองของภาครัฐ ที่ได้รับการยกเว้นการขึ้นทะเบียนกับ มกอช. (แต่หน่วยตรวจรับรองภาครัฐนี้อาจไม่ได้รับการยอมรับสำหรับการส่งออก)
(ค) ยังคงขอรับรองจากหน่วยตรวจรับรองเดิม (เพื่อการส่งออก) แต่ขอการรับรองเพิ่มจากจากหน่วยตรวจรับรองภาครัฐเพิ่ม ซึ่งคงต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ทั้งการจัดทำระบบเพื่อขอการรับรอง และค่าใช้จ่ายในการตรวจรับรอง

ล่าสุด ทาง มกอช. ได้ยกร่างข้อกำหนดมาตรฐานบังคับ “การแสดงฉลากผลิตผลและผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์” ซึ่งกำหนดที่จะยอมรับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระห่างประเทศและภูมิภาคเพียง 3 มาตรฐาน คือ  มาตรฐานของ Codex, IFOAM, และ ASEAN Standard for Organic Agriculture (ASOS) ซึ่งมาตรฐาน Codex และ ASOS นั้น ยังไม่ได้มีมาตรฐานของหน่วยงานใด/ประเทศใด ที่ผ่านการตรวจประเมินว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้อกำหนดของ 2 มาตรฐานนี้  ดังนั้น การยอมรับมาตรฐานเกษตรอินทรีอื่นของ มกอช. ในทางปฏิบัติจึงน่าจะยอมรับเฉพาะมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของ IFOAM มาตรฐานเดียว

(4) มีความพยายามที่จะยกเว้นการตรวจรับรองสำหรับเกษตรกรรายย่อย โดยทางมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทยเสนอให้ยกเว้นเกษตรกรที่มีรายได้น้อยกว่า 50,000 บาท/เดือน แต่ที่ประชุมกรรมการ มกอช. ไม่เห็นด้วย และในที่ประชุมเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 57 ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย เนื่องจาก (ก) เป็นการยากมากที่จะประเมินระดับรายได้ของเกษตรกร และ (ข) ที่ผ่านมา มักพบการกล่าวอ้างเป็นเกษตรอินทรีย์โดยไม่ได้รับรอง โดยเกษตรกรรายย่อยเป็นส่วนใหญ่
นอกจากนี้ ในร่างมาตรฐานได้กำหนดข้อยกเว้นให้เฉพาะกับเกษตรกรหรือกลุ่มที่เป็นผู้ผลิตและผู้จำหน่ายให้กับผู้บริโภคหรือผู้ใช้สุดท้ายโดยตรง ที่จะต้องจำหน่าย ณ สถานที่ผลิต หรือบริเวณใกล้เคียงสถานที่ผลิตเท่านั้น

(5) ในกรณีที่ มกอช. ยอมรับความเท่าเทียมของการตรวจรับรองมาตฐานอื่น น่าจะต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน ในปัจจุบัน มีมากกว่า 100 ประเทศที่มีการจัดทำระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของตัวเอง มกอช. จะต้องใช้เวลาอีกนานหลาย 10 ปี กว่าจะจัดทำยอมรับความเท่าเทียมดังกล่าวเสร็จ

(6) การขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาตกับ มกอช. ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ผลิต/ผู้ประกอบการกว่า 9,000 รายทั่วประเทศที่อาจต้องขึ้นทะเบียนกับ มกอช.5 (และต่ออายุทุก 3 ปี)

(7) มาตรฐานของ มกอช. มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการตรวจรับรองที่มีรายละเอียดที่ไม่เหมาะสม ซึ่งถ้านำมาบังคับใช้ น่าจะสร้างปัญหาให้กับผู้ผลิตได้ค่อนข้างมาก เช่น
* ห้ามขอการรับรองมาตรฐานผลิตผลชนิดเดียวกันกับหน่วยรับรองต่างกัน
* หน่วยตรวจรับรองต้องสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำ สัตว์น้ำ และปัจจัยการผลิตของผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อตรวจวิเคราะห์
* กลุ่มผู้ผลิตที่จะสมัครขอการรับรองแบบกลุ่มต้องจดทะเบียนตามกฏหมาย
* กำหนดให้ผู้ตรวจประเมินคุณภาพภายใน (หรือที่เรียกกันว่า ผู้ตรวจของระบบควบคุมภายใน) ต้องเป็นอิสระต่อกิจกรรมและ* พื้นที่ที่จะตรวจประเมิน คือ ต้องไม่ตรวจประเมินพื้นที่ที่ตัวเองทำงานส่งเสริมและดูแลอยู่ ซึ่งขัดกับแนวทางของระบบควบคุมภายใน ที่ระบบเกษตรอินทรีย์อื่นๆ กำหนดไว้
* กำหนดให้ผู้ตรวจระบบควบคุมภายในต้องใช้ “รายการตรวจมาตรฐาน มกษ. เกษตรอินทรีย์” คือ ใช้รายงานการตรวจที่ มกอช. เป็นผู้กำหนด ไม่ให้กลุ่มสามารถจัดทำระบบเอกสารการตรวจฟาร์มของตัวเองได้

(8) โดยปกติ การบังคับเรื่องการกล่าวอ้างจะไม่ได้บังคับเฉพาะคำว่า “เกษตรอินทรีย์ ออร์แกนิค Organic” แต่มักจะรวมถึงชื่อที่สื่อความหมายแบบเดียวกัน เช่นในกรณีของต่างประเทศ จะครอบคุมถึงคำ bio, biological, ecological เป็นต้น  ในกรณีประเทศไทย อาจครอบคลุมถึงคำว่า เกษตรยั่งยืน เกษตรชีวภาพ เกษตรธรรมชาติ ด้วยก็ได้ ซึ่งหมายความว่า สินค้าที่มีฉลากที่ใช้ชื่อดังกล่าว ต้องได้รับการตรวจรับรองตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของ มกอช. ด้วย
ล่าสุด ในร่างอกำหนดมาตรฐานบังคับ “การแสดงฉลากผลิตผลและผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์” กำหนดเฉพาะคำว่า “อินทรีย์, เกษตรอินทรีย์, ออร์แกนิก, organic, organic agriculture” เท่านั้น

(9) กลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในท้องถิ่น (เช่น ตลาดเขียว) รวมทั้งที่พยายามพัฒนาระบบชุมชนรับรอง/การรับรองแบบมีส่วนร่วม (participatory guarantee system – PGS) จะไม่สามารถดำเนินการได้อีกต่อไป จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานบังคับของ มกอช. และขอการรับรองจากหน่วยงานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก มกอช.  เว้นแต่ในมาตรฐานบังคับจะมีข้อยกเว้นให้กับระบบ PGS
ล่าสุด ในร่างอกำหนดมาตรฐานบังคับ “การแสดงฉลากผลิตผลและผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์” ได้ยอมรับระบบการตรวจรับรองแบบมีส่วนร่วม แต่จะต้องขึ้นทะเบียนและ “ได้รับการยอมรับจาก มกอช. ตามหลักเกณฑ์/เงื่อนไขในการยอมรับความสามารถของกลุ่มผู้ผลิตเครือข่ายในประเทศ ตามระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม ขอบข่ายเกษตรอินทรีย์ ที่กำหนดโดย มกอช. หรือต้องเป็นระบบ PGS ที่ได้รับการยอมรับจากองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง”

5) คำถามที่ มกอช. และมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทยต้องตอบ …

1. มีการเอาเปรียบผู้บริโภคจากการกล่าวอ้างฉลากมากจริงหรือ (9% ของสินค้าที่ไม่ได้รับการรับรอง แต่ใน 9% นั้น อาจเป็นเกษตรอินทรีย์จริงๆ ก็ได้ เพียงแต่ไม่ได้รับการรับรอง)
2. การทำมาตรฐานบังคับช่วยคุ้มครองผู้บริโภคได้จริงหรือ (อ้างเหตุผลเล็กๆ เพื่อบังคับคนส่วนใหญ่)
3. ถ้าต้องการคุ้มครองผู้บริโภค ทำไมไม่บังคับมาตรฐานเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) ก่อน ซึ่งมีความสำคัญ และส่งผลเสียต่อประเทศและผู้บริโภคกว้างขวางมากกว่า
4. กระบวนการตัดสินใจของกรรมการ มกอช. ทำไมเลือกทำมาตรฐานบังคับกับข้าวอินทรีย์
5. ข้อมูลที่ มกอช. และกรมการข้าว ใช้ในการพิจารณาขยายมาตรฐานบังคับจากข้าวอินทรีย์ เป็นผลผลิตเกษตรอินทรีย์ทุกชนิด
6. กระบวนการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสียเกษตรอินทรีย์ (ครึ่งวัน) ที่ดำเนินการแบบรีบเร่ง และไม่ได้ปรึกษาอย่างรอบคอบ
7. การเปิดเผยรายงานผลกระทบที่มูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทยทำการศึกษา
8. ความ (ไม่) พร้อมของ มกอช. ในการทำให้มาตรฐานบังคับ เพราะ มกอช. เองยังไม่เคยประกาศมาตรฐานบังคับกับเรื่องที่มีขนาดและความซับซ้อนแบบเกษตรอินทรีย์มาก่อน
9. ความ (ไม่) เหมาะสมของมาตรฐานและข้อกำหนดการตรวจรับรองของ มกอช.

สมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทยและมูลนิธิสายใยแผ่นดินได้แจ้งในที่ประชุม (11 ธ.ค. 2557) ว่า ไม่เห็นด้วยกับการทำมาตรฐานบังคับเกษตรอินทรีย์ เพราะ
(1) วัตถุประสงค์ของการกำหนดเป็นมาตรฐานทั่วไป คือ เพื่อ “ส่งเสริมสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน” ในขณะที่มาตรฐานบังคับนี้สำหรับเพื่อคุ้มครองสุขอนามัยและความปลอดภัยของผู้บริโภค  การแสดงฉลากและการกล่าว อ้างเกษตรอินทรีย์ไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขอนามัยและความปลอดภัยของผู้บริโภค จึงไม่ควรที่จะจัดทำเป็นมาตรฐานบังคับ
(2) สำหรับผู้ผลิต/ผู้ประกอบการที่ต้องขอใบอนุญาตจาก มกอช. จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้ไม่เพียงแต่ค่าธรรมเนียมใบขออนุญาต แต่ต้องรวมถึงค่าใช้จ่ายของการขอการตรวจรับรองเพิ่ม (ในกรณีที่จำเป็น) และค่าใช้จ่ายในการขอใบอนุญาต (การจัดเตรียมเอกสาร นำเอกสารใบยื่นให้ มกอช. ฯลฯ)
(3) การทำมาตรฐานบังคับไม่ได้ช่วยทำให้มีผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น แต่มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้มีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์น้อยลง (จากประสบการณ์ในต่างประเทศ พบว่า มีเกษตรกรน้อยลงหลังจากที่ประกาศมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เป็นมาตรฐานบังคับ) และเกษตรกร/ผู้ประกอบการมีแนวโน้มจะเลี่ยงไปใช้ฉลาก/คำกล่าวอ้างอื่นแทน เช่น ปลอดสารเคมี เกษตรธรรมชาติ ซึ่งจะเพิ่มความสับสนให้กับตลาดและผู้บริโภค ในขณะที่ตลาดและผู้บริโภคจะมีความเชื่อมั่นต่อเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ไม่ได้เพราะมีการทำให้เป็นมาตรฐานบังคับ แต่เกิดขึ้นจากความน่าเชื่อถือ/ประสิทธิผลของระบบการตรวจรับรอง (เช่นที่เกิดขึ้นแล้วกับระบบการตรวจรับรอง GAP และการใช้ฉลาก “Q”)
(4) การทำให้เป็นมาตรฐานบังคับไม่ได้ช่วยให้เกิดการส่งออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศผู้นำเข้าอยู่แล้ว  อีกทั้ง การที่ประเทศผู้นำเข้าจะยอมรับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทยก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า ประเทศไทยมีมาตรฐานบังคับหรือไม่  มีหลายประเทศ (เช่น อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) ที่ต่างประเทศ/ประเทศผู้นำเข้ายอมรับมาตรฐานเกษรอินทรีย์ของประเทศที่เป็นมาตรฐานทั่วไป โดยไม่ได้เป็นมาตรฐานบังคับในประเทศ
(5) การทำให้เป็นมาตรฐานบังคับเพิ่มภาระต้นทุนให้กับผู้นำเข้า เพราะต้อง (ก) ติดฉลากเพิ่ม และใช้ตรา “Q หกเหลี่ยม” และ (ข) ใบอนุญาตนำเข้ากับ มกอช. ซึ่งเอกสารประกอบการขอใบอนุญาตนำเข้า ก็อาจประกอบด้วยใบรับรองมาตรฐานของสินค้านำเข้า  แต่ในปัจจุบัน ผู้นำเข้าจะนำเข้าสินค้าที่บรรจุเสร็จหลายชนิด (อาจมากถึง 100 ชนิด) แต่ละชนิดจำนวนไม่มาก ซึ่งการจะขอใบรับรองของสินค้าแต่ละอย่างนั้นจะยุ่งยากมาก เพราะไม่ได้สั่งซื้อสินค้าโดยตรงจากผู้ผลิต และซื้อต่อจากผู้ขายส่งในต่างประเทศ
(6) การทำให้เป็นมาตรฐานบังคับเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยตรวจรับรอง (ทั้งหน่วยตรวจรับรองภายในประเทศไทยและต่างประเทศที่เข้ามาตรวจรับรองในประเทศไทย) ที่จะต้องจัดส่งรายละเอียดต่างๆ ให้กับ มกอช. เพื่อ มกอช. จะใช้ในการออกใบอนุญาต

วิฑูรย์ ปัญญากุล
(เขียนครั้งแรก 8 ธ.ค. 57, ปรับปรุงครั้งแรก 15 ธ.ค. 57, ปรับปรุงครั้งสอง 25 ก.ค. 59)

_____________________________
หมายเหตุ
[1] ในกรณีของเกษตรกรที่ผลิตและไม่ได้ใช้ฉลากและไม่ได้กล่าวอ้าง (เช่น ปลูกข้าวอินทรีย์ แล้วขายข้าวเปลือกให้กับโรงสี) ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรฐานบังคับนี้
[2] ฉลาก/คำกล่าวอ้างอื่นที่น่าจะอยู่ในข่ายได้แก่ bio, biological, ecological เป็นต้น
[3] รองเลขาธิการ มกอช. แจ้งว่า คณะกรรมการอาจลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตลดลงเหลือแค่ 100 บาทก็ได้
[4]  เว็บไซต์มูลนิธิชีววิถี (http://www.thaipan.org/node/831) เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักผลไม้
[5] อาจมีผู้ผลิต/ผู้ประกอบการเพียง 20% ที่เป็นผู้ใช้ฉลากเกษตรอินทรีย์ เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นแค่ผู้ผลิตวัตถุดิบ ซึ่งไม่ได้ใช้ฉลากเอง จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขของมาตรฐานบังคับ ที่ต้องขอใบอนุญาตจาก มกอช.