สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) ได้ร่วมกันจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาระบบการรองรับแบบมีส่วนร่วม PGS ในประเทศไทย” ขึ้น เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ที่ โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพฯ ซึ่งการประชุมนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและสร้างเครือข่ายการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) เพื่อการพัฒนาที่เกื้อหนุนต่อกลุ่มคนที่ยากจน โดยในการประชุมครั้งนี้ได้ประกอบด้วยหัวข้อการแนะนำระบบ PGS ตัวอย่างการนำระบบ PGS มาปฏิบัติใช้ในประเทศไทย และการทบทวนสภาพการณ์ในปัจจุบันของ PGS และกิจกรรมเกษตรอินทรีย์อื่นในประเทศไทย รวมทั้งการทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคธุรกิจเอกชน ในการพัฒนา PGS และเพื่อค้นหาโครงการนำร่อง PGS ในประเทศไทย เพื่อโครงการจะได้วางแผนการสนับสนุนด้านเทคนิค โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมการประชุม 55 คนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และวิชาการ ในการจัดประชุมครั้งนี้ ทางกรีนเนทได้ช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดประชุมให้กับทาง IFOAM
การประชุมเริ่มจากการนำเสนอของคุณ Christopher May ผู้เชี่ยวชาญและคณะกรรมการ PGS ของ IFOAM และหัวหน้าโครงการการพัฒนาระบบการรองรับแบบมีส่วนร่วม PGS ในลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งได้นำเสนอภาพรวมโครงการ และแนวคิด หลักการพื้นฐาน องค์ประกอบ และตัวอย่างกระบวนการทำงานของ PGS ในประเทศต่างๆ ตามด้วยการนำเสนอประสบการณ์การใช้ PGS ในประเทศไทยกับกลุ่มเกษตรกรทำนา จังหวัดสุรินทร์ โดยคุณธัญญา แสงอุบล มูลนิธิชุมชนเกษตรนิเวศน์ PGS ของกลุ่มวนเกษตร โดยคุณศรินยา คำพิลา มูลนิธิวนเกษตร กับเกษตรกรกาแฟ จังหวัดเชียงราย โดยคุณธวัชชัย โตสิตระกูล บริษัทกรีนเนท เอสอี จำกัด และความเป็นไปได้ในการยอมรับระบบการรับรอง PGS โดยผู้บริโภค โดยคุณสุวรรณา หลั่งน้ำสังข์ เลม่อนฟาร์ม
ผู้เข้าร่วมประชุมได้แบกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแโอกาสและอุปสรรคในการนำระบบ PGS มาใช้ในประเทศไทย โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับของความเข้าใจใน PGS ของเกษตรกร ที่ควรใช้ภาษาถิ่นในการสื่อสารเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ระดับการมีส่วนร่วมของเกษตรกรและระดับการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค ความน่าเชื่อถือของระบบ PGS ต่อผู้บริโภค/สาธารณะ การตรวจในระดับฟาร์มที่มีระบบที่ดี น่าเชื่อถือ รวมทั้งเรื่องของใบรับรอง PGS สำหรับผู้ซื้อ รวมทั้งบทบาทของภาครัฐ ที่ควรมีบทบาทในการเกื้อหนุนสนับสนุนเป็นหลัก ไม่ใช่เป็นการทำแทนกลุ่มเกษตรกร
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมมีความคิดเห็นที่ต่างกันในบางเรื่อง เช่น ความเหมาะสมในการทำโลโก้กลางสำหรับการตรวจรับรองแบบ PGS ในประเทศไทย หรือควรปล่อยให้แต่ละกลุ่มมีโลโก้ PGS ของตัวเอง เพื่อให้มีความหลากหลาย รวมถึงแนวทางและความจำเป็นในการมีกรอบหรือมาตรฐานระดับประเทศสำหรับ PGS เพื่อใช้อ้างอิง หรือแม้แต่การรับรองโดยภาครัฐ ซึ่งหลายส่วนเห็นว่า ภาครัฐควรทำหน้าที่ในการสนับสนุน แต่ไม่ใช่การกำกับควบคุม เพราะอาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทยมากกว่า