- หมวด/การปลูกพืชชนิดต่างๆ
- หมวด/เกษตรอินทรีย์
- หมวด/แนวทางการปลูกเกษตรอินทรีย์
- องค์ความรู้
- องค์ความรู้/for Producers
บัวบก Centella asiatica เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี ในวงศ์ Apiaceae (วงศ์ผักชี) พบได้ทั่วไปในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำของทวีปเอเชีย นิยมใช้เป็นทั้งผักและสมุนไพร
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
1. สภาพภูมิอากาศ
1.1 อุณหภูมิ: ร้อนชื้น อุณหภูมิประมาณ 25-30 °C
1.2 ความต้องการแสง: ไม่ชอบแสงแดดจัด
1.3 ปริมาณน้ำฝน: ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,200 –2,500 มิลลิเมตรต่อปี
2. สภาพพื้นที่
พื้นที่ดอน ไม่มีน้ำขัง หรือควบคุมน้ำได้ดี ไม่เหมาะกับพื้นที่แห้งแล้ง
3. สภาพดิน
3.1 โครงสร้างของดิน – ดินร่วนปนทราย ชื้นแฉะ
3.2 ปริมารอินทรียวัตถุ – มีอินทรียวัตถุอุดมสมบูรณ์
3.3 ลักษณะของดิน – เป็นดินมีความชุ่มชื้นมาก ระบายน้ำ
4. ธาตุอาหาร – ต้องการธาตุไนโตรเจนค่อนข้างมาก เพื่อให้มีใบมากขึ้น
5. สภาพน้ำ – มีความสะอาด ไม่มีสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ที่เป็นพิษปนเปื้อน ไม่มีโลหะหนักปนเปื้อน
แนวทางในการเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์
การเตรียมดิน
* ไถพรวนให้ดินร่วนซุยแล้ว ตากแดดทิ้งไว้ 10 วัน
* ในกรณีที่มีวัชพืชมาก ให้ไถพรวนซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
* ปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์
การเตรียมพันธุ์
* ปักชำ โดยใช้ไหล ตัดแยกไหลที่มีต้นอ่อนและรากนิดหน่อย
* รดน้ำให้ชุ่มพอ
* ที่เพาะชำ ควรอยู่ในที่ร่ม ไม่ควรตากแดดตลอดทั้งวัน
* ประมาณ 20 – 30 วัน กล้าชำน่าจะพร้อมย้ายปลูก
การปลูก
* ขุดหลุมปลูกตื้นๆ ระยะ 15 x 15 ซม.
* ใช้สแลน 50% คลุมแปลง ซึ่งจะทำให้บัวบกอวบน้ำ เหมาะสำหรับขายเป็นผักสด แต่ต้องระวัง เพราะอาจเกิดปัญหาโคนเน่าได้
* ในกรณีปลูกเพื่อขายเป็นสมุนไพรแห้ง อาจปลูกกลางแจ้ง (ซึ่งต้นจะสั้นกว่าปลูกในร่ม) เพราะจะใช้เวลาอบแห้งสั้นกว่า และได้น้ำหนักดี
* หมั่นรดน้ำ ให้แปลงชุ่มชื้น
การให้ปุ๋ย
* หลังจากย้ายปลูกประมาณ 30 วัน อาจใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่ม โดยเฉพาะปุ๋ยที่มีไนโตรเจน
* หลีกเลี่ยงปุ๋ยมูลไก่ เพราะมีความเสี่ยงโลหะหนักปนเปื้อน
การให้น้ำ
ให้น้ำบัวบกทุกวันเช้า-เย็น ให้ชุ่ม เพื่อให้แปลงชุ่มชื้นตลอด
เตรียมแปลงปลูก
* ยกร่องเป็นแปลงปลูก กว้าง 3 เมตร ระหว่างแปลงจัดเป็นร่องน้ำหรือทางเดินกว้าง 50 ซม. ลึก 15 ซม. เพื่อให้ระบายน้ำได้ดี
* ใส่ปุ๋ยอินทรีย์และถ่านไบโอชาร์ รดน้ำ ปล่อยทิ้งไว้อย่าง 30 – 45 วันก่อนย้ายกล้ามาปลูก
การกำจัดวัชพืช
ในช่วงระยะแรก ควรกำจัดวัชพืชด้วยการถอนทุก 14 วัน จนบัวบกโตขึ้นคลุมแปลง
ศัตรูที่สำคัญและการป้องกันกำจัด
* โรคโคนเน่ารากเน่าของบัวบก ให้ใช้เชื้อไตรโคเดอร์มาฉีดพ่นในแปลง
* หนอนกินใบ ถ้าพบจำนวนไม่มาก เก็บตัวออกไปทำลาย
การเก็บเกี่ยว
หลังจากปลูกประมาณ 60-90 วัน เริ่มเก็บเกี่ยวได้ ใช้เสียมเหล็กขุดเซาะบริเวณใต้ราก
การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
* นำต้นบัวบกออกมาล้างน้ำ ทำความสะอาดเศษดิน เก็บใบเหลืองเศษวัชพืชอื่นๆ ที่ปะปนมา ใช้มีดตัดแต่งต้น
* นำไปผึ่งลมให้แห้ง ใช้เวลาประมาณ 3 วัน
* บัวบกสด 10 กิโลกรัม เมื่อตากแห้งจะเหลือน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม
สายพันธุ์
* พันธุ์ที่ให้ผลผลิตดี คือพันธุ์ตราด รองลงมา คือ พันธุ์เชียงราย พันธุ์พะเยา
* พันธุ์ที่มีปริมาณสาร Asiaticcoside สูงที่สุด คือ พันธุ์ระยอง รองลงมา คือ พันธุ์พะเยา ราชบุรี
ผลผลิตเฉลี่ย
ผลผลิตบัวบกสดต่อไร่เฉลี่ย 800 – 1,789 กิโลกรัมต่อไร่
เอกสารอ้างอิง
- wikipedia “บัวบก”
- เอกสารเผยแพร่ “ขั้นตอนการปลูกและการดูแลรักษาบัวบก”, กรมส่งเสริมการเกษตร
- ประนอม ใจอ้าย (2556) รายงานโครงการวิิจัย “วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตบัวบก”, กรมวิชาการเกษตร