เมื่อ 15 ปีก่อน กลุ่มแฟร์เทรดในเมืองการ์สแตง (Garstang) ที่เป็นเมืองเล็กๆ ในประเทศอังกฤษ ได้ริเริ่มกิจกรรมรณรงค์แฟร์เทรดในเมืองของตัวเอง เพื่อให้ชาวเมืองและองค์กรต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในเมืองได้มีโอกาสรู้จักกับแฟร์เทรด รวมทั้งหันมาสนับสนุนผลิตภัณฑ์แฟร์เทรด ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า สำนักงานธุรกิจเอกชน โรงเรียน โบสท์ และสภาเมือง จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ นี้เอง ที่ได้ขยายตัวมาจนกลายเป็นขบวนการระดับโลก ที่มีเมืองต่างๆ กว่า 1647 เมืองใน 27 ประเทศทั่วโลก (ดูรายชื่อเมืองเหล่านี้ได้ที่ link) ที่ประกาศตัวว่าเป็นเมืองแฟร์เทรด
หนึ่งในเงื่อนไขของการประกาศว่าเป็นเมืองแฟร์เทรดก็คือ การที่หน่วยงานภาครัฐจัดทำนโยบายและดำเนินการในทางปฏิบัติในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แฟร์เทรด (public procurement) ยกตัวอย่าง นโยบายการจัดซื้อผลิตภัณฑ์แฟร์เทรดของเมืองออสโล (นอร์เวย์) มัลเมอ (สวีเดน) ฮันโนเวอร์ (เยอรมัน) โดยหน่วยราชการในท้องถิ่น ทำให้ยอดจำหน่ายสินค้าแฟร์เทรดในเมืองเหล่านี้สูงกว่ายอดเฉลี่ยในระดับประเทศหลายเท่าตัว หรือนโยบายการจัดซื้อกาแฟแฟร์เทรดของเมือง Karlstadt (เยอรมัน) ทำให้อัตราการบริโภคกาแฟแฟร์เทรดของหน่วยงานท้องถิ่นเพิ่มจาก 5% เป็น 75% ในเวลาเพียงไม่กี่ปี
ในช่วงระหว่างวันที่ 4 – 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีการจัดประชุมนานาชาติเมืองแฟร์เทรดครั้งที่ 9 ที่เมืองบริสตอล ในประเทศอังกฤษ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 250 คนจาก 21 ประเทศ เมืองบริสตอลนี้ได้รับเลือกให้เป็นเมืองหลวงสิ่งแวดล้อมของยุโรป (European Green Capital) ในปี 2558
สำหรับในภูมิภาคเอเชีย มีเมืองที่ได้ประกาศตัวเป็นเมืองแฟร์เทรดแล้วคือ เมืองคุมาโมโต้ (ญี่ปุ่น)