ระบบนิเวศและทรัพยากรชายฝั่งมีมูลค่ามากกว่าที่คุณคิด

ได้อ่านบทความของ โรเบิร์ต คอสแทนซ่า (Robert Costanza) และคณะ[1]เรื่อง มูลค่าของการบริการของระบบนิเวศของโลกและต้นทุนทางธรรมชาติ (The Value of the World’s Ecosystem Services and Natural Capital) มีหลายประเด็นที่น่าสนใจและเป็นความรู้ที่น่าจะนำมาเผยแพร่ให้ทราบกัน  โรเบิร์ตและคณะได้กล่าวไว้ว่าการให้บริการของระบบนิเวศทางธรรมชาติและ ต้นทุนทางธรรมชาติในโลกนี้สามารถจำแนกได้ประมาณ 17 ประการด้วยกัน เช่น การให้บริการด้านการผลิตและควบคุมปริมาณก๊าซชนิดต่าง ๆ รวมทั้งก๊าซออกซิเจน การควบคุมการเกิดและการไหลเวียนของน้ำ การควบคุมการเกิดการพังทลายของดินและการสะสมตะกอนดิน การควบคุมทางชีววิทยา การกำจัดของเสีย การสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ การผลิตอาหาร หรือการบริการเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น ถึงแม้ว่าการให้การบริการทางนิเวศเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรง ชีวิตของสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ แต่มูลค่าในการให้บริการกลับเป็นมูลค่าที่ไม่ได้อยู่ในระบบตลาด (ไม่สามารถซื้อขายได้) โรเบิร์ตและคณะสามารถคำนวนมูลค่าการบริการของระบบนิเวศและต้นทุนทางธรรมชาติของโลกว่ามีมูลค่าอยู่ระหว่าง 16 – 54 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ถ้าคิดเป็นค่าเฉลี่ยก็จะอยู่ประมาณ 33 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งสูงกว่ามูลค่าของผลผลิตประชาชาติโดยรวมชองโลก (Global Gross National Production) ที่มีอยู่ประมาณ 18 ล้านล้านเหรียญ สหรัฐต่อปีเท่านั้นหรือ เป็นอัตราส่วนประมาณ 1.8:1 นอกจากนี้แล้วโรเบิร์ตและคณะยังค้นพบว่ามูลค่าการบริการทางนิเวศที่สูง ที่สุดคือการบริการที่เกิดจากกระบวนการทางทะเลที่มีมูลค่าสูงถึง 21 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2:3 ของมูลค่าการบริการทางนิเวศของโลกทั้งหมด โดยที่ประมาณ 12.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐมาจากการบริการที่เกิดจากกระบวนการของระบบนิเวศในบริเวณชายฝั่ง ได้แก่ ระบบนิเวศแนวปะการับ ป่าชายเลน ปากแม่น้ำ และแหล่งหญ้าทะเล เป็นต้น ดังนั้นการอนุรักษ์และรักษาไว้ซึ่งระบบนิเวศชายฝั่งจึงเป็นเรื่องสำคัญและมี ความจำเป็นอันดับต้น ๆ เพื่อให้ระบบนิเวศเหล่านี้ยังคงให้การบริการทางนิเวศอย่างยั่งยืน

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีชายฝั่งทะเล ยาว 2,634 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 24 จังหวัดชายฝั่งทั้งบริเวณฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน โดยมีลักษณะระบบนิเวศชายฝั่งที่หลากหลายหรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นระบบนิเวศแทบ ทุกประเภทที่สามารถเกิดขึ้นได้ในบริเวณชายฝั่งทะเลเขตร้อน (TropicalCoastal Zone) ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนเป็นอันดับที่ 9 ของโลก[2]ประมาณ ร้อยละ 36 ของความยาวของพื้นที่ชายฝั่งเป็นป่าชายเลน ป่าชายเลนที่ขึ้นชื่อและยังคงความอุดมสมบูรณ์ ได้แก่บริเวณก้นอ่าวพังงาในพื้นที่จังหวัดพังงา และกระบี่ และบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันในจังหวัดระนอง ตรัง และสตูล  เป็นต้น  ระบบนิเวศหญ้าทะเลมี เกือบทุกจังหวัดชายฝั่งของประเทศยกเว้น กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม หญ้าทะเลเป็นระบบนิเวศที่เชื่อมต่อระหว่างปะการังและป่าชายเลนเป็นแหล่งที่ อยู่อาศัยของปลาหลากหลายชนิด และเป็นแหล่งอาหารของพะยูน และเต่าทะเล เป็นต้น

จากการสำรวจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในปี 2542[3]พบว่าแนวปะการังใน ประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 154 ตารางกิโลเมตรประมาณครึ่งหนึ่งอยู่ในบริเวรอ่าวไทยฝั่งตะวันออก อ่าวไทยฝั่งตะวันตกตอนบนและตอนกลาง และอีกครึ่งหนึ่งอยู่ในบริเวณฝั่งทะเลอันดามัน แนวปะการังเป็นแหล่งน้ำที่มีระบบนิเวศที่สลับซับซ้อน เปรียบเสมือนป่าดิบชื้น มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์สิ่งมีชีวิตสูงมาก สิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์มีความสัมพันธ์กันเป็นห่วงโซ่อาหารที่สลับ ซับซ้อนและเป็นไปอย่างสมดุล โดยสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นใช้แนวปะการังเป็นแหล่งสืบพันธุ์ แหล่งวางไข่ แหล่งอนุบาลตัวอ่อน แหล่งหลบภัย และแหล่งหากิน แนวปะการังเป็นแหล่งที่มีผลผลิตทางชีวภาพสูง ผลผลิตประเภทปลาเศรษฐกิจหลายชนิดพบในแนวปะการัง นอกจากนี้แล้วแทบทุกจังหวัดชายฝั่งของประเทศไทยมีแม่น้ำ ลำคลองมากมายหลายสายที่ไหลลงทะเล ทำให้เกิดระบบนิเวศปากแม่น้ำและปากคลองที่เชื่อมต่อกับทะเลทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนแร่ธาติอาหารจนกลายเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์น้ำหลาย ๆ ชนิดอีกด้วย

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ของระบบ นิเวศ และทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นต้นทุนและแหล่งบริการทางนิเวศที่สำคัญในการดำรงชีวิตของประชาชนคน ไทยที่มีมูลค่ามากมายมหาศาล ซึ่งน้อยประเทศในโลกจะมีได้ ดังนั้นการ ให้คุณค่าและให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและ ชายฝั่งให้อุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อที่จะสามารถให้บริการทางนิเวศอย่างยั่งยืนได้ นั้นจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น และมีความสำคัญอย่างยิ่ง  หน่วยงานต่าง ๆ ชองภาครัฐที่มีหน้าที่ดูทรัพยากรธรรมชาติแทนประชาชนคนไทยที่เป็นเจ้าของ ทรัพยากร ไม่ควรนำระบบนิเวศชายฝั่งเหล่านี้ไปแลกหรือเสี่ยงกับการพัฒนาเพื่อหวังการ เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นแต่จะทำให้สูญเสียระบบนิเวศเหล่านี้ไปโดย ไม่อาจจะฟื้นฟูให้เหมือนเดิมได้ เช่นการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่จังหวัดตรัง การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่จังหวัดนครศรีธรรมราช หรือการที่จะนิรโทษกรรมเรือประมงอวนลากเถื่อนอีก 2,107 ลำ ด้วยการอ้างเหตุผลการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำไปยังสหภาพยุโรปของกรมประมง เป็นต้น

 

สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ


[1]Costanza, R., et al., 1997. The Value of the World’s Ecosystem Services and Natural Capital, Nature. Vol 387. 253-260.

 

[3]http://www.dmcr.go.th/marinecenter/coral.php, 7 กันยายน พ.ศ. 2555