สินค้าไหนเป็น เกษตรอินทรีย์ กันแน่!!

ปัจจุบันสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้รับความสนใจในวงกว้างขึ้น ทั้งผู้ผลิตและผู้ประกอบการที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น และผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง  รวมถึงผู้บริโภคที่เริ่มหันมาสนใจมองหาสินค้าเกษตรอินทรีย์   ถึงกระนั้นในบ้านเราก็ยังมีสินค้าเกษตรอินทรีย์ไม่มากพอและไม่หลากหลายเทียบกับความต้องการของผู้บริโภค

แต่บางคนก็อาจบอกว่า ในตลาดต่างๆ จะพบสินค้าเกษตรอินทรีย์มากมายหลายยี่ห้อ  สินค้าเหล่านี้มีทั้งที่ระบุว่าเป็นอินทรีย์ เกษตรอินทรีย์ ออร์แกนิค หรือต่างๆ นานา หรือแม้แต่ว่าเป็นสินค้าปลอดสารเคมีปลอดสารพิษก็มี ซึ่งสร้างความสับสนให้กับผู้บริโภคพอสมควรทีเดียว  ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายบังคับ ผู้ผลิตรายใดก็ได้ก็สามารถที่จะเรียกสินค้าตัวเองว่าเป็น “เกษตรอินทรีย์”  ดังนั้น คงเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคอย่างเราที่จะต้องอ่านฉลากและข้อสังเกตบางประการบนสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ ก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อ

แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรกว่าชิ้นไหนเป็นผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ของแท้  นอกเหนือจากถ้อยคำที่อ้างอิงความเป็นเกษตรอินทรีย์ หรือบางผลิตภัณฑ์อาจใช้เป็นภาษาอังกฤษว่า Organic นั้น  ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ตรารับรองหรือโลโก้ขององค์กรรับรองเกษตรอินทรีย์ ที่มีระบบการตรวจรับรองที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งผู้ผลิตและผู้ประกอบการที่นำตรารับรองเหล่านี้มาใช้ จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในมาตรฐาน และได้รับการตรวจยืนยันจากหน่วยตรวจรับรองอิสระ  ในประเทศไทยเราปัจจุบันนี้มีองค์กรรับรองอิสระของคนไทย ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล และรูปแบบของตรารับรองก็คือ สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) ซึ่งดำเนินงานภายใต้มูลนิธิมาตรฐานเกษตรอินทรีย์  มกท. เป็นหน่วยงานของคนไทย ที่ได้รับการรับรองระบบงานเกษตรอินทรีย์ IFOAM จาก สำนักประกันคุณภาพมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (International Organic Accreditation Services – IOAS) รวมทั้งได้รับการรับรองระบบงานจากสำนักมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ดังนั้น มกท. สามารถให้บริการตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ทั้งตามเกณฑ์มาตรฐานของ IFOAM ตามกฎระเบียบเกษตรอินทรีย์ของสหภาพยุโรป และตามระเบียบเกษตรอินทรีย์ของประเทศแคนาดา-สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

นอกจากนี้ ในต่างประเทศ มีหน่วยงานจากต่างประเทศอีกหลายร้อยแห่งที่ได้ทำการตรวจสอบรับรองมาตรเกษตรอินทรีย์ และบางแห่งก็มีสำนักงานในประเทศไทยด้วย ทำให้ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ที่ขายอยู่ในประเทศไทยจึงมีตรารับรองมาตรฐานที่หลากหลายมาก โดยเฉพาะที่นำเข้าจากต่างประเทศมาจำหน่าย  ตัวอย่างของตรารับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ต่างประเทศ เช่น

เหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนที่เราอาจจะคุ้นตาอยู่บ้างในผลิตภัณฑ์อินทรีย์ที่จำหน่ายอยู่ในบ้านเรา  หากพบตรารับรองมาตรฐานสากลเหล่านี้ ผู้บริโภคก็สามารถมั่นใจได้ว่าผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์นั้นมาจากระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์

กลุ่มที่สองเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ใช้มาตรฐานระดับประเทศหรือมาตรฐานท้องถิ่นของบ้านเราเอง ซึ่งมีอยู่ 3 มาตรฐาน คือ

ตรารับรองเกษตรอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร กรมประมมง กรมปศุสัตว์ และกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตรารับรองขององค์กรมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ
ตรารับรองของชมรมเกษตรอินทรีย์เกาะพะงัน เป็นระบบการรับรองมาตรฐานแบบชุมชนมีส่วนร่วม (participatory guarantee system – PGS) สำหรับเกษตรอินทรีย์บนเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

อีกกลุ่มหนึ่งที่มีเพียงข้อความ  เกษตรอินทรีย์  อินทรีย์  ออร์แกนิก หรือ organic  โดยปราศจากตรารับรองมาตรฐานจากหน่วยงานอิสระ กลุ่มนี้จัดเป็นผลิตภัณฑ์ที่รับรองตัวเองโดยผู้ผลิต

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับตรารับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้ที่ “ตรารับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย