- EquiTool เครื่องมือประเมินความทัดเทียมมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
- COROS เกณฑ์ข้อกำหนดกลางและเป้าหมายมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
- IROCB ข้อกำนหดในการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์สากล
จากความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่ริเริ่มโดย ITF (International Task Force on Harmonization and Equivalence in Organic Agriculture) ในปี พ.ศ. 2546 ได้มีการพัฒนาเครื่องมือและกลไกการยอมรับความทัดเทียมกันของมาตรฐาน 3 ด้าน คือ EquiTool COROS และ IROCB
EquiTool เครื่องมือประเมินความทัดเทียมมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
EquiTool เป็นเครื่องมือสำหรับการประเมินความทัดเทียมกันของมาตรฐานการผลิตและการแปรรูปเกษตรอินทรีย์ ซึ่งใน EquiTool นี้ประกอบด้วยทั้งเกณฑ์และขั้นตอนในการประเมินความทัดเทียมของมาตรฐานเกษตรอินทรีย์กับเกณฑ์มาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล หรือการประเมินความทัดเทียมของมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ต่างมาตรฐานกัน (อย่างน้อย 2 มาตรฐานหรือมากกว่า) โดยอาจเป็นการประเมินความทัดเทียมแบบพหุภาคี (multilateral equivalence assessment) หรือทวีภาคี (bilateral equivalence assessment) หรือเป็นการประเมินความทัดเทียมของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพียงฝ่ายเดียว (unilateral equivalence assessment)
การจัดทำเครื่องมือ EquiTool นี้ก็เพื่อให้รัฐบาล หรือหน่วยงานกำหนดมาตรฐานใช้ในการประเมินและเจรจาข้อตกลงการยอมรับความเท่าเทียมกันของมาตรฐานกับประเทศอื่นหรือหน่วยงานกำหนดมาตรฐานอื่น การใช้ EquiTool ช่วยทำให้เกิดกระบวนการประเมินความทัดเทียมที่เป็นระบบ โปร่งใส และเป็นธรรมมากขึ้น
เอกสาร EquiTool สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของ GOMA
COROS เกณฑ์ข้อกำหนดกลางและเป้าหมายมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
COROS (Common Objectives and Requirements of Organic Standards) เป็นกรอบของเกณฑ์ข้อกำหนดกลางและเป้าหมายที่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ต่างๆ ควรมีเป็นพื้นฐานขั้นต่ำ ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง GOMA และ IFOAM โดยแนวคิดในการจัดทำ COROS นี้เกิดขึ้นในช่วงระหว่างการพัฒนา EquiTool เพื่อจัดทำเป็นกรอบมาตรฐานกลางสำหรับใช้ในการพิจารณาความทัดเทียมกันของมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ต่างๆ ในการพัฒนา COROS นั้น ผู้จัดทำได้พัฒนาขึ้นจากเกณฑ์ข้อกำหนดขั้นต่ำเกษตรอินทรีย์ของ IFOAM (IFOAM Basic Standards) และเกณฑ์ข้อกำหนดมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของ Codex Alimentarius รวมทั้งมาตรฐานและกฎระเบียบเกษตรอินทรีย์ต่างๆ ทั่วโลก
เอกสาร COROS สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของ GOMA
IROCB ข้อกำนหดในการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์สากล
IROCB เป็นข้อกำหนดในการดำเนินการสำหรับการตรวจสอบรับรอง ที่หน่วยตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ควรจะใช้สำหรับการทำงานของตัวเอง เกณฑ์ข้อกำหนดใน IROCB มีพื้นฐานมาจากเกณฑ์ข้อกำหนด ISO Guide 65 และเกณฑ์ข้อกำหนดการรับรองระบบงานของสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM Accreditation Criteria) โดยได้ทำการปรับปรุงเกณฑ์ทั้งสองชุดเพื่อให้เหมาะสมกับระบบเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งมีข้อกำหนดเพิ่มเติมอื่น ที่ปัจจุบันได้กำหนดไว้ในกฎระเบียบเกษตรอินทรีย์ของภาครัฐและภาคเอกชน
วัตถุประสงค์ของ IROCB ก็คือ เกณฑ์อ้างอิงในการยอมรับหน่วยตรวจรับรองและกระบวนการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้ ยังอาจใช้ IROCB เป็นเครื่องมือของหน่วยงานภาครัฐ หน่วยตรวจรับรองเอกชน และหน่วยรับรองระบบงาน ในการยอมรับผลการตรวจรับรองของหน่วยงานอื่น รวมทั้งใช้ IROCB เป็นเกณฑ์ข้อกำหนดกลาง ในการปรับปรุงข้อกำหนดที่แตกต่างกันให้เป็นเกณฑ์ข้อกำหนดเดียวกัน หรือยอมรับในความทัดเทียมซึ่งกันและกัน
ITF เชื่อว่า ถ้าภาครัฐในประเทศต่างๆ นำ IROCB ไปใช้ในการอนุมัติ-ยอมรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ที่ผ่านการตรวจรับรองในระบบของต่างประเทศ ก็จะช่วยให้ขั้นตอนการอนุมัตินำเข้านั้นรวบรัดและสะดวกมากขึ้น เพราะการใช้เกณฑ์ข้อกำหนด IROCB มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และมีความเป็นธรรมมากกว่าระบบที่ใช้ในการอนุมัติการนำเข้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการและผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์สามารถดำเนินธุรกิจการผลิตและการค้าได้สะดวกมากขึ้น นอกจากนี้ การใช้เกณฑ์ข้อกำหนด IROCB ยังเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบของ World Trade Organization (WTO) ที่มีนโยบายสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ พยายามลดการกีดกันทางการค้า โดยการยอมรับความทัดเทียมกันของระบบในต่างประเทศ และถ้าประเทศต่างๆ ใช้เกณฑ์ข้อกำหนด IROCB ในการยอมรับสินค้านำเข้า แทนที่จะใช้เกณฑ์ข้อกำหนดของประเทศตัวเอง การค้าเกษตรอินทรีย์ก็จะสะดวก เพราะมีอุปสรรคกีดขวางการค้าลดลง
โครงสร้างของเกณฑ์ข้อกำหนด IROCB คล้ายคลึงกับเกณฑ์ข้อกำหนด ISO Guide 65 โดยแบ่งออกได้เป็น 2 หมวดใหญ่ คือ ข้อกำหนดทั่วไป และข้อกำหนดเกี่ยวกับกระบวนการตรวจรับรอง ข้อกำหนดทั่วไปแบ่งย่อยออกเป็น 5 หัวข้อ คือ ความรับผิดชอบ ทรัพยากรบุคคล ความเป็นกลางและการมีเหตุมีผล ข้อมูล และระบบจัดการคุณภาพ ในขณะที่ข้อกำหนดเกี่ยวกับกระบวนการตรวจรับรองมี 4 หัวข้อ คือ ขั้นตอนการสมัคร การตรวจประเมิน การตัดสินใจรับรอง การขยายขอบเขตและการต่ออายุการรับรอง (เอกสารเกณฑ์ข้อกำหนด IROCB และคู่มือการใช้ IROCB สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของ GOMA)