โดยทั่วไป เรามักจะเข้าใจความหลากหลายทางชีวภาพว่าเป็นความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต (พืช สัตว์ จุลินทรีย์) ที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศหนึ่งๆ หรือในบริเวณพื้นที่หนึ่งๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน หรือต่างเวลากัน (เช่น ฤดูฝนและฤดูหนาว มีสิ่งมีชีวิตต่างชนิดกัน) แต่ที่จริงแล้ว ในทางวิชาการ เราแบ่งความหลากหลายออกได้เป็น 3 ระดับ คือ
(ก) ความหลากหลายทางพันธุกรรม คือ ความแตกต่างของพันธุกรรมในสิ่งมีชีวิตประเภทหนึ่งๆ เช่น การมีข้าวหลากหลายสายพันธุ์ในนาข้าว
(ข) ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต คือ ความแตกต่างของสิ่งมีชีวิตทั้งชนิดและประเภท ในพื้นที่หนึ่งๆ เช่น การมีพืชหลากหลายชนิด และสัตว์ต่างๆ ในฟาร์ม
(ค) ความหลากหลายของระบบนิเวศ คือ ความแตกต่างของระบบนิเวศในแต่ละพื้นที่ เช่น การที่ประเทศหรือภูมิภาคมีความแตกต่างของระบบนิเวศที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ภาคใต้ของประเทศไทยมีระบบนิเวศของพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) ป่าเขตร้อน และนิเวศชายฝั่งทะเลที่หลากหลายในบริเวณใกล้ๆ กัน
ความหลากหลายทางชีวภาพมีความสำคัญและเป็นประโยชน์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในหลายด้าน ในที่นี้ เราจะเน้นประโยชน์สำหรับการพัฒนาภาคการเกษตรและชนบท คือ การเป็นแหล่งเชื้อพันธุ์สำหรับการปรับปรุงพันธุ์ในภาคการเกษตร การเป็นแหล่งสมุนไพรและยารักษาโรค การทำให้เกิดเสถียรภาพของนิเวศการเกษตร ความมั่นคงด้านอาหาร การเป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรม การให้บริการทางนิเวศ และการให้คุณค่าทางสุนทรียภาพและจิตวิญญาณ ซึ่งประโยชน์เหล่านี้ บางอย่างเป็นผลมาจากความหลากหลายทางพันธุกรรม บางอย่างก็เกิดจากความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต และบางอย่างก็เกิดจากความหลากหลายของระบบนิเวศ ดังที่แสดงในตารางข้างล่าง
โดยพื้นฐาน การปรับเปลี่ยนฟาร์มเป็นเกษตรอินทรีย์มีส่วนช่วยในการอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพได้อยู่แล้ว มีรายงานจำนวนมากที่ได้รวบรวมและวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างฟาร์มทั่วไปและฟาร์มเกษตรอินทรีย์ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น
- ความหลากหลายทางชีวภาพกับเกษตรอินทรีย์ (หนังสือชุด คู่มือนักส่งเสริมเกษตรอินทรีย์)
- ความรู้เบื้องต้นเกษตรอินทรีย์ (พิมพ์ครั้งที่ 4)
แนวทางปฏิบัติการจัดการฟาร์ม
ที่มีส่วนช่วยในการอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพได้เป็นพิเศษ มี 8 เรื่อง คือ
(1) ลดการไถพรวน และหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่
• ลดการไถพรวนให้น้อยลงเท่าที่จำเป็น เพราะการไถพรวนส่งผลต่อแมลงที่อยู่ผิวดิน โดยเฉพาะแมงมุมที่ทำรังอยู่บนผิวดิน
• การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรขนาดใหญ่ ที่มีน้ำหนักมาก จะทำให้ดินแน่นแข็ง ส่งผลต่อปริมาณของตัวอ่อนแมลงที่อาศัยอยู่ใต้ดิน
(2) การเลือกใช้ปุ๋ยอินทรีย์แบบผสมผสานและมีอินทรียวัตถุสูง
• การใช้ปุ๋ยเคมีในอัตราสูงเป็นพิษต่อแมลงขนาดเล็ก และส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีกระดูกสันหลังที่กินแมลงขนาดเล็ก ดังนั้น การเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ จึงช่วยทำให้มีแมลงและสิ่งมีชีวิตเหล่านี้เพิ่มขึ้นด้วยพื้นฐาน
• แต่ถ้ามีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในอัตราที่สูง โดยเฉพาะปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง จะทำให้เกิดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช เพราะทำให้พืชที่ปลูกอ่อนแอ
• การใช้ปุ๋ยอินทรีย์อย่างผสมผสาน คือ ใช้หลายชนิดร่วมกัน ไม่ใช่ใช้ปุ๋ยคอกเพียงชนิดเดียว ซึ่งจะทำให้มีความหลากหลายของธาตุอาหารพืช และถ้าสามารถเลือกใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีอินทรียวัตถุสูง ก็จะช่วยเพิ่มแหล่งอาหารให้กับจุลินทรีย์และสัตว์ใต้ดินอีกด้วย
(3) การปลูกพืชหมุนเวียน โดยมีพืชตระกูลถั่วร่วมด้วย
• แทนที่จะเป็นการปลูกพืชชนิดเดียวกันซ้ำกันทุกฤดู/ทุกปี การปลูกพืชหมุนเวียนมีส่วนช่วยเพิ่มความหลากหลายของพืชและแมลงโดยตรง แต่การปลูกพืชหมุนเวียนนี้ต้องพิจารณาสภาพเงื่อนไขของดิน, ภูมิอากาศ และสภาพเงื่อนไขในท้องถิ่นอื่นๆ ในการเลือกพืชหมุนเวียนที่จะปลูก
• โดยทั่วไป ในวงจรของการปลูกพืชหมุนเวียน จะต้องมีการปลูกพืชที่ปรับปรุงดิน (พืชตระกูลถั่ว) ด้วย เพราะดินจะได้รับอินทรียวัตถุเพิ่มขึ้น รวมทั้งช่วยลดการชะล้างหน้าดินและธาตุอาหาร ทำให้ดินเก็บกักธาตุอาหารได้ดีขึ้น ลดการชะล้างไนโตรเจนจากดิน
• การปลูกพืชตระกูลถั่วเป็นส่วนหนึ่งของระบบพืชหมุนเวียนจะช่วยเพิ่มไนโตรเจนให้กับดินสำหรับพืชที่จะปลูกในฤดูถัดไป
(4) การจัดการศัตรูพืชโดยวิธีธรรมชาติ
• ผลกระทบต่อแมลงแต่ละชนิดจะขึ้นอยู่กับชนิดของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เลือกใช้ เช่น แมงมุมและด้วงเต่าจะได้รับผลกระทบมากจากสารเคมีกำจัดแมลง ในช่วงระหว่างการสืบพันธุ์และขยายพันธุ์ เพราะเป็นช่วงที่ค่อนข้างอ่อนแอ
• สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ให้สิ่งมีชีวิตที่เป็นอาหารของแมลงที่เป็นประโยชน์ (ตัวห้ำ-ตัวเบียน) จะลดลง จนกระทบต่อการอยู่รอดของแมลงที่เป็นประโยชน์
• สารกำจัดศัตรูพืชจากสารธรรมชาติมีผลกระทบต่อแมลงที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายต่ำกว่า
• สารกำจัดวัชพืชโดยทั่วไปไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงต่อแมลงที่มีประโยชน์มากนัก แต่มีผลกระทบทางอ้อมต่อความหลากหลายของพืชพื้นถิ่น ซึ่งมีอาจสร้างผลกระทบต่อแมลงที่เป็นประโยชน์ได้
(5) สร้างสมดุลของความเกื้อกูลในการปลูกพืชและเลี้ยวสัตว์ในฟาร์ม
• เนื่องจากมีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มเดียวกัน ก็จะทำให้การเลี้ยงสัตว์ไม่ใช่ฝูงใหญ่มากจนเกินไป ซึ่งช่วยลดปัญหาเกี่ยวกับโรคระบาดสัตว์
• ใช้ปุ๋ยคอกที่ได้จากสัตว์ในฟาร์มสำหรับให้ธาตุอาหารกับพืชเศรษฐกิจ
• เลือกปลูกพืชที่ใช้เป็นอาหารหยาบให้กับสัตว์ เป็นหนึ่งในพืชหมุนเวียน
(6) ปลูกพืชพื้นถิ่นบริเวณขอบแปลง บนคันนา หรือพืิ้นที่หัวไร่ปลายนา
• ช่วยเป็นที่พักของแมลงในช่วงฤดูหนาว/แล้ง
• เป็นแหล่งอาหาร ผสมพันธุ์ และพักอาศัยของแมลงบางชนิด
(7) ปลูกไม้ดอกเป็นอาหารให้สัตว์/แมลงผสมเกสร
• ผึ้ง ค้างคาว และนกบางชนิด ทำหน้าที่ในการผสมเกสรให้กับพืช
• การปลูกไม้ดอกหลากหลาย ให้มีดอกไม้ตลอดทั้งปี ช่วยทำให้สัตว์/แมลงเหล่านี้มีแหล่งอาหารเพียงพอ
(8) กันพื้นที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
- ในมาตรฐานเกษตรอินทรีย์หลายมาตรฐาน มีข้อกำหนดให้กันพื้นที่บางส่วนของฟาร์ม (5 – 7% ของพื้นที่) เป็นพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยพื้นที่นี้ จะปล่อยให้พืชพรรณพื้นถิ่นขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือมีการปลูกก็ได้ แต่เป็นพื้นที่ที่ปล่อยให้เป็นธรรมชาติ เกษตรกรจะไม่เข้าไปทำกิจกรรมบ่อยๆ (ไม่เกินปีละ 2 – 3 ครั้ง) เพื่อไม่เป็นการรบกวนพืชสัตว์ที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
- บริเวณรอบบ่อ-สระน้ำเป็นพื้นที่ที่ควรอนุรักษ์เพราะมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก ทั้งนี้เพราะเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน้ำ ทำให้มีสัตว์และพืชในน้ำ บนผิวน้ำ และริมตลิ่ง ส่วนใหญ่เป็นพืช-สัตว์พื้นถิ่น นอกเหนือจากสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำแล้ว บ่อ-สระน้ำนี้มีความสำคัญต่อการดำรงพันธุ์ของแมลงและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำหลายชนิด ที่อาจมีการผสมพันธุ์ หรือเป็นที่อยู่อาศัยของตัวอ่อนในน้ำ รวมทั้งพืชพรรณที่อยู่บริเวณริมตลิ่งนี้จะมีลักษณะเฉพาะ ที่ไม่พบในบริเวณอื่นของฟาร์ม เพราะเป็นพืชที่ต้องอาศัยความชุ่มชื้นสูง
- บริเวณคูน้ำ-ทางระบายน้ำในฟาร์มก็เป็นอีกพื้นที่ที่มีความหลากหลายค่อนข้างสูง เพราะเป็นส่วนเชื่อมโยงระหว่างนิเวศน้ำกับแปลงเพาะปลูก
ค่อนข้างคล้ายกับบ่อ-สระน้ำ คือ เป็นที่อยู่อาศัยของพืช-สัตว์หลายชนิด เช่น หอย แมลง (ทั้งแมลงที่มีประโยชน์และศัตรูพืช) และพืชพรรณพื้นถิ่นที่เป็นอยู่อาศัยของแมลง แต่คู-ทางระบายน้ำจะมีน้ำเฉพาะแค่ช่วงหนึ่งของปี (ฤดูฝน) ในฤดูอื่น อาจมีการระบายน้ำบ้าง ถ้าฟาร์มดังกล่าวมีระบบชลประทานอยู่ (อาจเป็นชลประทานหลวง หรือของชุมชนก็ได้) - พื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่ในฟาร์ม หรือรอบฟาร์ม (ฟาร์มติดกับพื้นที่ชุ่มน้ำสาธารณะ) เป็นพื้นที่สำคัญมากที่ต้องอนุรักษ์ไว้ [พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง (โดยธรรมชาติ) ในช่วงหนึ่งของปี หรือตลอดทั้งปี] เพราะเป็นที่วางไข่และที่หากินของปลาและนกหลายชนิด รวมทั้งมีบทบาทสำคัญของการให้บริการทางนิเวศกับพื้นที่รอบๆ ด้วย
- พื้นที่แนวเขตรอบฟาร์ม (บางส่วนอาจเป็นแนวกันชนด้วยก็ได้) เมื่อกันออกเป็นพื้นที่อนุรักษ์จะเป็นที่อยู่อาศัยของแมลง-สิ่งมีชีวิตในช่วงนอกฤดูเพาะปลูก โดยมักจะพบพืชพรรณธรรมชาติอยู่ค่อนข้างมาก ทั้งพืชขนาดเล็ก ไม้พุ่ม หรือแม้แต่ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้สัตว์หลายชนิดสามารถใช้พื้นที่นี้เป็นที่หลบภัย หาอาหาร ขยายพันธุ์ ได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ที่ไม่มีการเพาะปลูก สิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก รวมทั้งแมลงที่อาศัยหากินในแปลงเพาะปลูก จะหลบมาอาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวชั่วคราว (สัตว์บางชนิดอาจจำศีลอยู่ในพื้นที่นี้ด้วย) เพื่อรอสภาพแวด ล้อมเหมาะสม จึงค่อยอาหากินและแพร่พันธุ์ในฤดูเพาะปลูกถัดไป
- ป่าในฟาร์มเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายสูงมาก เพราะเป็นที่พักอาศัยและที่หากินของสัตว์หลายชนิด วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ กันพื้นที่ออกจากพื้นที่การเกษตร เพียงแค่ปล่อยพื้นที่ทิ้งไว้เฉยๆ เพื่อให้พืชพรรณพื้นถิ่นได้ขึ้น หรือจะมีการปลูกไม้พุ่ม-ไม้ยืนต้นร่วมด้วยก็ได้ ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตจะขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ป่า ในกรณีที่มีไม้พุ่มและไม้ยืนต้นจำนวนมาก สัตว์หลายชนิดเข้ามาพักอาศัยและหากิน โดยเฉพาะสัตว์ประเภทแมลง นก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ขนาดเล็กอื่นๆ ซึ่งจะพบมาทั้งบนต้นไม้ และที่อยู่บนดินและใต้ดิน บริเวณโคนต้นไม้ใหญ่