ถ่านชีวภาพ-ถ่านไบโอชาร์
pic from: http://biocharproject.org/

มีวิธีการเผาถ่านหลายวิธี ซึ่งทำให้ได้ถ่านหลากหลายประเภท เช่น
* ถ่านทั่วไป (ที่เผาโดยวิธีพื้นบ้าน)
* ถ่านไร้ควัน (มีการกำจัดสิ่งเจือปนในถ่านออก ซึ่งเก็บมาใช้ในรูปของ “น้ำส้มควันไม้”)
* ถ่านกัมมันต์ หรือ activated carbon ที่ส่วนใหญ่ใช้เป็นยารักษาโรค วัสดุกรองและดูดซับกลิ่น
* ถ่านชีวภาพ หรือ biochar ที่นิยมนำมาใช้เป็นสารปรับปรุงดินสำหรับการเกษตร

 

ถ่านชีวภาพได้จากการเผาแบบไพโรไลซิส (pyrolysis) คือ การอบอินทรียวัตถุ (ไม้) ในสภาพที่ไม่มีออกซิเจน (หรือมีน้อยมาก) เพื่อเปลี่ยนไม้ที่มีคาร์บอนสูง ให้เป็นถ่านที่เป็นของแข็ง และขณะเดียวกัน ก็จะได้ของเหลว (เรียกว่าไบโอออยล์ bio-oil) และก๊าซ (เรียกว่า ซินก๊าซ syngas) ซึ่งมีเทคนิควิธีการเผาได้หลายแบบ ทั้งที่ใช้อุปกรณ์ที่ง่ายๆ จนถึงซับซ้อน และไม่ใช้อุปกรณ์อะไรเป็นพิเศษ

 

ถ่านชีวภาพมีคุณสมบัติที่เหมาะกับปรับปรุงดินหลายอย่าง แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ รูพรุนที่ผิวถ่าน ซึ่งทำให้ถ่านชีวภาพสามารถเก็บกักน้ำและธาตุอาหาร รวมทั้งเป็นที่อยู่ของจุลินทรีย์ดินที่เป็นประโยชน์ โดยก่อนที่จะนำถ่านชีวภาพไปใช้ปรับปรุงดิน ควรเติม (ชาร์ทถ่าน) จุลินทรีย์และธาตุอาหารก่อน ที่จริงแล้ว ถ่านทุกชนิดมีรูพรุนมากกว่าวัสดุตั้งต้น ซึ่งขนาดและปริมาณของความพรุนในถ่านนี้ขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาเผาเป็นถ่านและกรรมวิธีการเผา

คุณสมบัติรองลงมาก็คือ ถ่านมีสภาพที่เป็นด่างเล็กน้อย จึงช่วยลดสภาพความเป็นกรดของดินลงได้บางส่วน นอกจากนี้ ถ่านชีวภาพมีธาตุไนโตรเจน (ที่เป็นประโยชน์กับพืช) รวมทั้งน่าจะมีค่าความสามารถในการแลกเปลี่ยนประจุบวก (ทำให้เก็บกักธาตุอาหารได้มาก)

 

โดยทั่วไป เราจะใช้ถ่านชีวภาพเฉพาะบริเวณใกล้ๆ กับรากฝอยของพืช โดยมักจะผสมกับปุ๋ยหมักฮิวมัสหรือปุ๋ยคอกก่อน 1 – 2 วัน (ชาร์ทถ่าน) ในอัตราตั้งแต่ 1:1 – 1:4 (ถ่านชีวภาพ:ปุ๋ยคอก/ปุ๋ยหมัก) แล้วจึงนำไปใส่รองก้นหลุมปลูก (พืชล้มลุก) หรือใส่โคนต้น (ไม้ยืนต้น) หรือใช้เป็นส่วนผสมในวัสดุเพาะเมล็ด/เพาะกล้า  ในกรณีของการปลูกผัก แนะนำให้ใช้ในอัตรา 1 – 4 ลิตร/ตารางเมตร