โครงการพัฒนาและขยายผลต้นแบบการปรับตัวของชุมชนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อความมั่นคงทางอาหารในประเทศไทย
ระยะเวลา
เริ่ม: มีนาคม 54
สิ้นสุด: สิงหาคม 56

ในช่วงปลายปี 2553 มีการพบปะกันระหว่างหน่วยงานที่สนใจจะทำงานสนับสนุนการปรับตัวให้กับเกษตรกร 4 หน่วยงาน คือ องค์การอ๊อกแฟม มูลนิธินโยบายสุขภาวะ ศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิสายใยแผ่นดิน  ทั้ง 4 หน่วยงานได้ร่วมกันพัฒนาโครงการที่จะขยายผลการสนับสนุนการปรับตัวสำหรับเกษตรกรและชุมชน เพื่อที่จะขอทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นโครงการชื่อ “การพัฒนาและขยายผลต้นแบบการปรับตัวของชุมชนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อความมั่นคงทางอาหารในประเทศไทย” โดยมีพื้นที่เป้าหมายทำงานใน 2 จังหวัด คือ ยโสธรและเชียงใหม่ ซึ่งโครงการนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ (ก) การพัฒนาต้นแบบการปรับตัวให้กับเกษตรกรรายย่อย (ข) พัฒนาแนวทางการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐที่ครอบคลุมการประกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยในการปรับตัว (ค) การขยายผลการดำเนินงานในระดับพื้นที่ทั้งแนวระนาบ (สู่ชุมชนเกษตรอื่นๆ) และแนวตั้ง (สู่นโยบาย) และ (ง) การพัฒนาความร่วมมือระหว่างเครือข่ายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โครงการนี้มีระยะเวลาในการทำงาน 30 เดือน (มีนาคม 2554 – สิงหาคม 2556) ซึ่งทางมูลนิธิฯ จะรับผิดชอบหลักในเรื่องการขับเคลื่อนงานและกิจกรรมระดับพื้นที่กับเกษตรกร ส่วนงานเกี่ยวกับการวิจัย ข้อมูล การเตรียมข้อเสนอทางนโยบาย และการประสานเครือข่ายจะเป็นงานของหน่วยงานอื่นที่เป็นภาคีของโครงการ

ในส่วนของกิจกรรมสนับสนุนการปรับตัว โครงการฯ ได้สนับสนุนเกษตรกร 159 ครอบครัว (128 ครอบครัวในจังหวัดยโสธร และ 31 ครอบครัวในตำบลแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่

บทเรียนจากการทำงานได้จัดพิมพ์เป็นเอกสาร “จะปรับตัวรับมือโลกร้อนอย่างไร: บทเรียนจากความร่วมมือ 4 ฝ่าย

ในเดือนธันวาคม 2557 องค์การอ๊อกแฟมได้ทำการประเมินผลกระทบของโครงการ โดยการศึกษาประสิทธิผลของโครงการ และได้ข้อสรุปว่า โครงการนี้ประสบความสำเร็จเป็นส่วนใหญ่ โดยได้ดำเนินงานที่ตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมายโดยตรง ซึ่งก็คือ เกษตรกรในครอบครัวที่ทำนาเกษตรอินทรีย์  มีเพียง 2-3 ประเด็นที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ไม่ชัดเจนในเรื่องผลกระทบ คือ (ก) การใช้บริการข้อมูลพยากรณ์อากาศ (ข) การเพิ่มผลผลิตการเกษตรโดยรวม และ (ค) มีผลกระทบด้านความรู้ไม่มากนัก  แต่การประเมินผลพบว่า มีหลักฐานที่ชัดเจนมากเกี่ยวกับผลกระทบในเชิงดัชนีความยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศ ซึ่งประกอบด้วยคุณลักษณะ 16 ด้าน ที่ครอบครัวเกษตรกรทำนาเกษตรอินทรีย์มีคะแนนดีกว่ากลุ่มอื่นๆ ทั้งชาวนาโดยรวม หรือชาวนาเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ  อ่านบทสรุปรายงานประเมินผลกระทบได้ที่ [download 227KB]