การดำเนินงานของ ITF ในช่วงที่ผ่านมา สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระยะ คือ ช่วงทบทวนและวิเคราะห์ และช่วงการพัฒนาทางออก
ในช่วงแรกของการช่วงทบทวนและวิเคราะห์ปัญหา ซึ่งทาง ITF ได้ทำการศึกษาทบทวนสถานการณ์ภาพรวมของมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ กฎระเบียบทางเทคนิค และข้อกำหนดในการตรวจรับรอง และวิเคราะห์ผลกระทบต่างๆ รวมทั้งกลไกและโมเดลของการค้าเกษตรอินทรีย์ ตลอดจนประสบการณ์ในการร่วมมือ การยอมรับ และการสร้างความทัดเทียมต่างๆ ในระบบเกษตรอินทรีย์ และโมเดลแบบต่างๆ ที่น่าจะนำมาใช้ในการสร้างให้เกิดการยอมรับในลักษณะของการ harmonization และ equivalence ด้วย
ในช่วงที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงพัฒนาทางออก ITF ได้สังเคราะห์ความรู้ความเข้าใจและบทเรียนที่ได้จากระยะแรก มาพัฒนาเครื่องมือสำหรับใช้ในการสร้างการยอมรับแบบ harmonization และ equivalence 2 เครื่องมือ คือ “แนวทางในการประเมินความทัดเทียมของมาตรฐานและกฎระเบียบทางเทคนิคเกษตรอินทรีย์” (Guide for Assessing Equivalence of Organic Standards and Technical Requirements – EquiTool) และ “เกณฑ์ข้อกำหนดสำหรับหน่วยตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์” (International Requirements for Organic Certification Bodies – IROCB) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบทความ “เครื่องมือและกลไกในการยอมรับความทัดเทียมกันของมาตรฐาน”
นอกจากนี้ ITF ยังได้มีข้อสรุปและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงานเกี่ยวกับพัฒนาระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ การตรวจสอบรับรอง การรับรองระบบงาน และความร่วมมือในการพัฒนาการยอมรับมาตรฐานและการรับรองเกษตรอินทรีย์ระหว่างประเทศด้วย ซึ่งข้อเสนอแนะที่สำคัญที่ควรกล่าวถึงในที่นี้ คือ
- รัฐบาลและภาคเอกชนควรจะพยามยามอย่างจริงจังในการนำเครื่องมือที่ ITF ได้พัฒนาขึ้น และข้อเสนอแนะอื่นๆ ไปปฏิบัติใช้ในการดำเนินการเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ของตัวเอง
- รัฐบาลควรจะนำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล (ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ 2 เกณฑ์มาตรฐาน คือ เกณฑ์มาตรฐานสากลของ Codex และเกณฑ์ข้อกำหนดของสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ – IFOAM) เป็นข้อกำหนดอ้างอิงในการอนุมัติ/การยอมรับการนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์
- ควรสร้างการมีส่วนร่วมของภาครัฐและเอกชน (public-private participation) ในการกำหนดมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล
- ในกฎระเบียบของภาครัฐ รัฐบาลควรสนับสนุนและดำเนินการให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกันในการตรวจประเมิน (conformity assessment)
- ควรสนับสนุนความริเริ่มใหม่ๆ ในการสร้างความร่วมมือในการตรวจรับรอง การรับรองระบบงาน และกฎระเบียบด้านเกษตรอินทรีย์ เช่น การตรวจประเมินหลายมาตรฐาน-ระบบไปพร้อมๆ กัน
- ควรใช้ IROCB ในลักษณะของเอกสารอ้างอิงในการทำความตกลงยอมรับความทัดเทียม และอาจใช้เป็นเครื่องมือในการทำให้เกิดเกณฑ์ข้อกำหนดกลางสำหรับหน่วยตรวจสอบรับรอง รวมทั้งใช้เป็นเกณฑ์ในการรับรองระบบงานโดยตรงด้วย
เครือข่าย ITF ปิดตัวลงในปี 2551 แต่ความร่วมมือของ 3 หน่วยงานยังคงดำเนินต่อ ภายใต้ชื่อ Global Organic Market Access (GOMA) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนให้มีการยอมรับมาตรฐานและระบบการตรวจรับรองระหว่างประเทศ โดยการนำเครื่องมือ ที่ ITF ได้พัฒนาขึ้นไปใช้ โดย GOMA ได้เริ่มโครงการระยะแรกตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552 – พฤษภาคม 2555
ข่าวกิจกรรมและข้อมูลเกี่ยวกับ ITF และ GOMA สามารถดูได้ที่เว็บไซต์ GOMA